Saturday, 27 July 2024

8 สูตรวิธีทำปุ๋ยหมักช่วยลดขยะและช่วยบำรุงดิน

ขยะอินทรีย์ หรือขยะย่อยสลาย สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ได้หลายวิธี ซึ่งวิธีที่นิยมมากที่สุดก็คือ การนำกลับมาทำปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยอินทรีย์ เช่น มูลสัตว์ เศษอาหาร เศษผัก-ผลไม้ และเศษขยะต่าง ๆ ผ่านกรรมวิธีที่ทำให้วัสดุอินทรีย์ย่อยสลายด้วยจุลินทรีย์ โดยมีตัวอย่างดังต่อไปนี้

สูตรที่ 1. วิธีทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร
วัสดุและอุปกรณ์
เศษอาหารแห้ง เช่น เศษข้าว เศษขนมปัง ก้างปลา เปลือกไข่ เปลือกผลไม้ 1 ส่วน
มูลสัตว์ เช่น ขี้วัว ขี้ไก่ ขี้ม้า 1 ส่วน
ใบไม้ 1 ส่วน
ถังขนาด 20 ลิตร
ตาข่ายกันแมลง
วิธีทำ
1. นำถังขนาด 20 ลิตร มาเจาะรูไว้รอบถังแล้วใช้ตาข่ายกันแมลงพันให้รอบ เพื่อช่วยระบายอากาศและป้องกันแมลงรบกวน
2. ผสมเศษอาหารแห้งที่มีขนาดเล็กและไม่มีน้ำ เช่น เศษข้าว เศษขนมปัง ก้างปลา เปลือกไข่ และเปลือกผลไม้ เข้ากับมูลสัตว์ เช่น ขี้วัว ขี้ไก่ ขี้ม้า และเศษใบไม้ ในอัตรา 1:1:1 ส่วน
3. คลุกเคล้าให้เข้ากันแล้วปิดฝาให้สนิท ถ้าหากวันต่อไปมีเศษอาหารเพิ่ม ก็นำมาเติมเข้าไปได้ แต่อย่าลืมผสมในอัตราส่วนเท่าเดิมด้วย
4. พลิกกลับส่วนผสมวันละ 1-2 ครั้ง เป็นประจำทุกวัน
ในช่วงแรกไม่จำเป็นต้องเติมน้ำ เพราะเศษอาหารมีความชื้นอยู่แล้ว แต่เมื่อเห็นว่าส่วนผสมเริ่มแห้งลง ก็สามารถพรมน้ำเข้าไปได้เล็กน้อย โดยจะใช้เวลาในการหมักประมาณ 1 เดือน ก็จะได้ปุ๋ยหมักสีดำขนาดเล็ก ที่แห้งสนิทและไม่มีกลิ่นเหม็นไว้ใช้บำรุงต้นไม้แล้ว

สูตรที่ 2. วิธีทำปุ๋ยหมักจากต้นกล้วย
วัสดุและอุปกรณ์
หน่อกล้วย 3 ส่วน
กากน้ำตาล 1 ส่วน
น้ำมะพร้าวอ่อน
น้ำสะอาด
บัวรดน้ำ
วิธีทำน้ำหมักจุลินทรีย์
1. ทำน้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพก่อน โดยนำหน่อกล้วย 3 ส่วนมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วผสมให้เข้ากันกับกากน้ำตาล 1 ส่วน
2. เทน้ำมะพร้าวอ่อนลงไปให้พอท่วม ปิดฝาให้แน่นสนิทเพื่อไล่อากาศ 1 วัน แล้วรอประมาณ 10-15 วัน ค่อยนำมากรองใส่ขวดพร้อมเก็บไว้ในที่ร่มเพื่อรอใช้งาน
วิธีทำปุ๋ยหมัก
1. นำหน่อกล้วยสับละเอียด 3 ส่วน กากน้ำตาล 1 ส่วน และน้ำมะพร้าวอ่อนมาผสมกัน
2. นำน้ำหมักจุลินทรีย์ (จากขั้นตอนข้างต้น) กากน้ำตาล และน้ำใส่ลงไปในบัวรดน้ำ
3. นำไปรดให้ชุ่มกองส่วนผสมที่เตรียมไว้ คนให้เข้ากันจนกว่าจะกำแล้วก้อนไม่แตก
4. นำส่วนผสมมาใส่ในกระสอบปุ๋ยโดยไม่ต้องมัดปาก แล้วนำไปวางไว้ในที่ร่มประมาณ 5-7 วัน ก็จะได้ปุ๋ยหมักที่หอม มีจุลินทรีย์และอินทรีย์ต่าง ๆ พร้อมแก่การนำไปใช้ประโยชน์ แต่ทางที่ดีอย่าลืมผสมปุ๋ยหมักกล้วย 1 ส่วน เข้ากับปุ๋ยคอก 10 ส่วน เพื่อประสิทธิภาพที่ดีด้วยล่ะ

สูตรที่ 3 วิธีทำปุ๋ยหมักพืชสด
วัสดุและอุปกรณ์
พืชสด เช่น พืชตระกูลทั่ว พืชตระกูลหญ้า และพืชน้ำ 2 กระสอบ
มูลสัตว์ เช่น ขี้วัว ขี้หมู ขี้เป็ด ขี้ไก่ 2 กระสอบ
แกลบดำหรือแกลบดิบ 2 กระสอบ
หัวเชื้อจุลินทรีย์ 1 ขัน
น้ำสะอาด 40 ลิตร
วิธีทำ
1. นำพืชสด ซึ่งส่วนใหญ่นิยมเป็นพืชตระกูลทั่ว เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วนา ถั่วพร้า ปอเทือง โสนคางคก โสนอินเดีย โสนอัฟริกัน หรือพืชตระกูลหญ้าและพืชน้ำ จำนวน 2 กระสอบ มูลสัตว์จำนวน 2 กระสอบ และแกลบดำ 2 กระสอบ มาผสมให้เข้ากัน
2 นำหัวเชื้อจุลินทรีย์ 1 ขัน ผสมเข้ากับน้ำสะอาดประมาณ 40 ลิตร แล้วรดให้ทั่วกองส่วนผสม
3 คลุกให้เข้ากัน หมักไว้ในที่ร่ม รอจนกระทั่งกลายเป็นปุ๋ยที่เย็นแล้วค่อยนำมาใช้งาน

สูตรที่ 4. วิธีทำปุ๋ยหมักจากฟางข้าว
วัสดุและอุปกรณ์
ฟางข้าวหรือตอซังข้าว 500-1,000 กิโลกรัม
น้ำหมักชีวภาพที่มีจุลินทรีย์มีชีวิต 5-10 ลิตรต่อไร่
รถแทรกเตอร์
วิธีทำ
1. เกลี่ยฟางข้าวให้กระจายทั่วแปลงนา จากนั้นปล่อยน้ำสะอาดเข้ามาในนาให้ระดับน้ำสูง 3-5 เซนติเมตร
2. ใช้รถแทรกเตอร์กดให้ฟางข้าวจมน้ำ เสร็จแล้วนำน้ำหมักชีวภาพสูตรที่มีจุลินทรีย์รดให้ทั่วแปลงนา
ถ้าใช้ฟางข้าวประมาณ 500-800 กิโลกรัม ให้ใช้น้ำหมัก 5 ลิตรต่อไร่ แต่ถ้าใช้ฟางข้าวประมาณ 800-1,000 กิโลกรัม ให้ใช้น้ำหมัก 10 ลิตรต่อไร่ หมักทิ้งไว้นานราว 10 วัน จนกระทั่งฟางข้าวและตอซังข้าวอ่อนนุ่มและย่อยสลาย หลังจากนั้นก็พรวนดินและเตรียมดินสำหรับปลูกข้าวได้ตามปกติเลย

สูตรที่ 5. วิธีทำปุ๋ยหมักขี้วัว
วัสดุและอุปกรณ์
มูลสัตว์ เช่น ขี้วัว ขี้หมู หรือขี้ไก่ 1,000 กิโลกรัม
หินฟอสเฟต 25 กิโลกรัม
ปุ๋ยยูเรีย 2 กิโลกรัม
วิธีทำ
1. นำมูลสัตว์มาหมักปรับความชื้น 50%
2. นำมูลสัตว์ที่ได้ไปผสมหินฟอสเฟต (K. B. K. 0-3-0) และปุ๋ยยูเรีย (สูตร 46-0-0) เข้าด้วยกัน
3. นำส่วนผสมข้างต้นใส่ลงในถังหมักพร้อมคลุมผ้าปิด รอประมาณ 1 เดือน ก็จะได้ปุ๋ยที่พร้อมแก่การใช้งาน
4. หมั่นพลิกกลับกองปุ๋ยอย่างสม่ำเสมอ โดยจะแบ่งออกเป็น 4 ครั้ง ได้แก่ ครั้งแรกเมื่อหมักได้ 3 วัน ครั้งที่สองเมื่อหมักได้ 10 วัน ครั้งที่สามเมื่อหมักได้ 17 วัน และครั้งที่ 4 เมื่อหมักได้ 24 วันนั่นเอง

สูตรที่ 6 วิธีทำปุ๋ยหมักจากเศษหญ้า
วัสดุและอุปกรณ์
เศษหญ้าหรือเศษพืชอื่น ๆ 1,000 กิโลกรัม
มูลสัตว์ 200 กิโลกรัม
ปุ๋ยยูเรีย 2 กิโลกรัม
สารเร่ง พด.1 1 ซอง
น้ำสะอาด 5 ลิตร
วิธีทำ
1. นำเศษหญ้าหรือเศษพืชอื่น ๆ เช่น ฟางข้าว ต้นข้าวโพด หรือต้นอ้อยมาสับให้ละเอียด
2. นำส่วนผสมมากองเป็น 3 ชั้น ในพื้นที่ร่มไร้แสงแดด โดยให้รองพื้นด้วยมูลสัตว์ ตามด้วยเศษหญ้า และปุ๋ยยูเรียทุกชั้น
3. ผสมสารละลาย ประกอบด้วยสารเร่งซุปเปอร์ พด.1 กับน้ำสะอาด 5 ลิตร แล้วนำมาราดบนกองส่วนผสมแต่ละชั้น
4. หาวัสดุมาคลุมพร้อมรดน้ำให้พอชุ่ม คอยดูแลกลับกองปุ๋ยทุก ๆ สัปดาห์ ใช้เวลาในการหมักนานประมาณ 45 วัน ก็จะได้เป็นปุ๋ยหมักชีวภาพที่พร้อมแก่การใช้งาน

สูตรที่ 7. วิธีทำปุ๋ยหมักจากขุยมะพร้าว
วัสดุและอุปกรณ์
ขุยมะพร้าว 1 ส่วน
ขี้ไก่เนื้อ 1 ส่วน
สารเร่ง พด.1 1 ซอง
น้ำสะอาด
วิธีทำ
1. เตรียมขุยมะพร้าวให้เรียบร้อย ถ้าหากมีความชื้นไม่มาก ก็สามารถพรมน้ำลงไปได้เล็กน้อย
2. จัดหาพื้นที่สำหรับกองปุ๋ย โดยควรเลือกเป็นพื้นที่ร่มที่มีหลังคาคลุมและไม่มีน้ำท่วมขัง
3. เริ่มผสมขุยมะพร้าว 1 ส่วน ต่อขี้ไก่เนื้อ 1 ส่วนได้เลย อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่ใช้ขี้ไก่ไข่แทนขี้ไก่เนื้อ ให้ลดปริมาณลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น
4. ละลายสารเร่ง พด.1 กับน้ำสะอาด (โดยสารเร่ง พด.1 1 ซอง จะใช้ได้กับวัสดุทำปุ๋ย 1 ตัน) เสร็จแล้วนำไปราดลงบนกองส่วนผสม หมักไว้หลายวันจนกระทั่งปุ๋ยเย็นลง ก็สามารถนำมาใช้งานได้เลย

สูตรที่ 8. วิธีทำปุ๋ยหมักจากปลา
วัสดุและอุปกรณ์
ปลาหรือเศษปลา เช่น หัวปลา ก้างปลา หางปลา พุงปลา 40 กิโลกรัม
กากน้ำตาล 20 กิโลกรัม
หัวเชื้อปุ๋ยหมักซุปเปอร์ พด.2 1 ถุง
น้ำสะอาด
ถังขนาด 200 ลิตร
วิธีทำ
1. ละลายหัวเชื้อปุ๋ยหมักซุปเปอร์ พด.2 กับน้ำอุ่น 20 ลิตร
2. นำไปใส่ถังขนาด 200 ลิตร พร้อมทั้งใส่เศษปลา 40 กิโลกรัม และกากน้ำตาล 20 กิโลกรัม ลงไปด้วย
3. เติมน้ำสะอาดลงไปประมาณ 80% ของถัง แล้วหามุ้งไนลอนตาถี่มาปิดไว้เพื่อระบายอากาศและป้องกันแมลงไปในตัว
4. ระหว่างหมักให้คนทุกวัน วันละ 2-3 ครั้งต่อวัน อีกทั้งในช่วงที่หมัก น้ำจะลดลงเรื่อย ๆ ให้คอยเติมน้ำสะอาดลงไปอีกด้วย
5. ระยะเวลาในการหมักนานประมาณ 25-30 วัน หรือจนกระทั่งได้ปุ๋ยน้ำหมักจากปลาที่เป็นสีน้ำตาลเข้ม มีฟองละเอียดมาก และมีกลิ่นคล้ายแอลกอฮอล์ จึงค่อยนำมาใช้งาน
ถ้าหากฉีดตามใบพืช ให้ผสมปุ๋ยน้ำจากปลา 1 ลิตร เข้ากับน้ำ 100-150 ลิตร แล้วรดประมาณสัปดาห์ละครั้ง แต่ถ้าหากราดลงโคนพืช ให้ผสมปุ๋ยน้ำจากปลา 1 ลิตร เข้ากับน้ำ 50 ลิตร แล้วรดประมาณปีละ 3-4 ครั้ง

ประโยชน์จากการใช้ปุ๋ยหมัก
ปุ๋ยหมักนอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะได้ทางหนึ่งแล้ว กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้อธิบายถึงประโยชน์ของปุ๋ยหมักไว้อีกมากมาย เช่น
1. ปุ๋ยหมักเป็นการนำขยะอินทรีย์มาใช้ประโยชน์ใหม่ จึงช่วยลดปริมาณขยะอินทรีย์เข้าระบบการจัดการขยะได้
2. ปุ๋ยหมักบางชนิดมีจุลินทรีย์ที่ช่วยยับยั้งและป้องกันจุลินทรีย์ที่ทำให้พืชเป็นโรคได้
3. ปุ๋ยหมักมีธาตุอาหารครบถ้วน ทั้งธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง และธาตุอาหารเสริม
4. ปุ๋ยหมักเป็นแหล่งอาหารของสิ่งมีชีวิตในดินที่เป็นประโยชน์ จึงช่วยให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้ดีขึ้น
5. ปุ๋ยหมักมักจะปล่อยธาตุอาหารให้พืชอย่างช้า ๆ ทำให้อยู่ในดินได้ค่อนข้างนาน จึงมีโอกาสเสียน้อยกว่าปุ๋ยเคมี
6. ปุ๋ยหมักช่วยปรับค่าความเป็นกรด-ด่างของดินให้เหมาะสมได้ ต่างจากปุ๋ยเคมีที่มีแอมโมเนียเป็นส่วนประกอบ จึงอาจจะทำให้ดินแปรสภาพเป็นกรด
7. ปุ๋ยหมักช่วยเพิ่มจุลินทรีย์และอินทรียวัตถุ ทำให้โครงสร้างของดินดีขึ้น เช่น ร่วนซุย ระบายน้ำดี ถ่ายเทอากาศสะดวก และรากแผ่กระจายหาอาหารง่ายขึ้น ในขณะที่ปุ๋ยเคมีไม่มีคุณสมบัติในการปรับปรุงดินใด ๆ
8. ปุ๋ยหมักช่วยลดค่าใช้จ่ายและทำให้ประหยัดเงิน เพราะสามารถใช้แทนปุ๋ยเคมีได้ สามารถลดปริมาณการซื้อปุ๋ยเคมีลงได้ แถมยังไม่ต้องเสียเงินซื้อสารเคมีหรือยาป้องกันแมลงศัตรูพืชด้วย
จะเห็นเลยว่ามีเศษขยะอินทรีย์หลายชนิดที่สามารถนำกลับมาทำปุ๋ยหมักได้ แถมประโยชน์ยังดีงาม คุ้มค่า มีประสิทธิภาพไม่แพ้ปุ๋ยเคมีเลยด้วย เอาเป็นว่าต่อไปนี้นอกจากจะคัดแยกขยะก่อนทิ้งแล้ว อย่าลืมนำขยะอินทรีย์ที่คัดแยกไว้มาใช้ให้เกิดประโยชน์กันด้วย
ที่มา : กกพ