Friday, 19 April 2024

7 ข้อควรรู้ ก่อนตัดสินใจลาออกจาก “ลูกจ้าง” มาทำการเกษตร

การเป็นลูกจ้างในยุคปัจจุบัน คงเป็นความขมขื่นสุดจะทน หลายคนจึงมีฝันที่จะหนีไปให้ไกล สิ่งที่กลายเป็นปรากฏการณ์อันน่าฉงนสำหรับผมคือ “เดี๋ยวนี้ คนอยากไปทำเกษตรกรรมเยอะมาก”

เริ่มตั้งแต่ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บนแผงหนังสือ ถูกยึดครองด้วยหนังสือแนวเกษตรกรรมจำนวนมาก อย่างที่ไม่เคยมีมากขนาดนี้มาก่อนแล้วแต่ละเล่ม “สร้างฝัน” ทั้งสิ้น พืชชนิดนั้นเงินล้าน พืชชนิดนี้เงินล้าน หรือ พื้นที่เท่านั้นเท่านี้ไร่ ได้กี่แสน อ่านแค่ปก ตาก็ลุกวาวเป็นประกาย พร้อมตั้งคำถามกับตัวเอง…เฮ้ย นี่เรามาโง่งมทำอะไร ทำงานแทบตาย โดนโขกโดนสับขนาดนี้ ได้เงินแค่นี้เองเหรอ
แต่เดี๋ยวจะหาว่าผมขัดคอ กีดขวางคนมีฝัน เอาเป็นว่า ผมประมวลสิ่งที่ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กับผู้คนที่เป็นเกษตรกรตัวจริงแต่อ้อนแต่ออก และเกษตรกรในฝัน เกษตรกรแบบสมาร์ตฟาร์มเมอร์ มีหลายอย่างน่าสนใจ และใครที่ยังมีฝันเช่นที่ว่ามา ลองนำไปใคร่ครวญดูครับ

คิดให้ดีก่อนที่จะลาออกจากงานมาทำการเกษตร เพราะการทำเกษตรไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับคนไม่เคยทำ แต่ไม่ใช่เรื่องยาก สำหรับเกษตรกรที่ มีประสบการณ์ หรือ ใครก็ได้ที่มีความตั้งใจ และเรียนรู้ก่อน ที่จะลงมือทำ โดยทางผู้เขียนได้ให้ข้อคิดดีไว้ว่า “การทำเกษตร ใช้ใจทำ ไม่ใช่ใช้เงินทำ” เพราะถ้าใช้เงินทำ และถ้าเงินหมด ก็คงจะทำอะไรต่อไม่ได้

7 ข้อข้อคิด ก่อนที่ ตัดสินใจลาออก จากลูกจ้าง มาทำเกษตร

ข้อที่ หนึ่ง มีที่ดิน เท่าไหร่ เพราะการทำเกษตรและให้ได้เงินล้าน ควรจะต้องมีทีดินไม่ต่ำกว่า 10 ไร่ แต่ถ้ามีทีดิน น้อยกว่านั้น ก็สามารถทำได้ แต่อย่าคาดหวัง สูง ทำแบบเศรษฐกิจพอเพียงไปก่อน และวันหนึ่ง มีประสบการณ์รายได้เพิ่มขึ้น มากถึงระดับที่ต้องการได้

ข้อที่ สอง เกษตรกรรมเป็นอาชีพที่ “เหนื่อย” แม้จะเป็นสมาร์ตฟาร์มเมอร์ ที่หาเครื่องทุ่นแรงมาใช้มากมาย ก็ไม่วายต้องเหนื่อยในช่วงเริ่มต้น แต่ถ้ายังมีฝัน ลองถามตัวเองว่า มีความสุขที่ต้องทำงานกลางแดด กลางลม เหงื่ออาบร่างแทบทั้งวันหรือไม่

ข้อที่สาม อย่าหลงใหลได้ปลื้ม ไปตามหน้าปกหนังสือ ปลูกไอ้โน่นได้เงินล้าน ปลูกไอ้นี่ได้เงินล้าน เพราะในความเป็นจริง ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป ต้องมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอีกมากมาย ดังนั้น อย่าคิดว่าจะปลูกตามใคร แต่จงปลูกตามที่สนใจ และดูทิศทางศึกษาตลาดควบคู่ไปด้วย

ข้อที่สี่ ศึกษาหาความรู้ให้มากพอก่อนที่จะลงมือทำ อย่าทดลองแบบสุ่มสี่สุ่มห้า โดยไม่รู้อะไรเลย ความรู้ที่ว่านี้ ไม่เพียงทำความเข้าใจพืชชนิดที่จะปลูกเท่านั้น แต่เรื่องดิน น้ำ อากาศ ธาตุอาหาร วิธีการรับมือกับโรคและแมลง ล้วนแต่เป็นความรู้ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร

ข้อที่ห้า ควรมีพื้นที่ของตัวเอง เพราะการไปเช่าอาจโดนค่าเช่าผลาญรายได้ไปหมด บางรายก็ใช้วิธีซื้อด้วยเงินที่เก็บหอมรอมริบมา แบบนี้ก็ยังพอได้ เพราะคิดเสียว่า ออมเงินในรูปของอสังหาริมทรัพย์ จะได้สบายใจ เพราะหากนำต้นทุนค่าที่ดิน มารวมเป็นต้นทุนในการทำเกษตรกรรมด้วย อาจหมดแรงใจไปเสียก่อน และต้องเตรียมเงินทุนให้พร้อม เพราะการทำเกษตรจะต้องรอเก็บเกี่ยวผลผลิต อาจจะมากถึง 5-6 เดือน หรือ ขั้นต่ำ 2-3 เดือน ถึงจะมีรายได้ และช่วงเวลาที่รอ ซึ่งก็ต้องใช้เงิน แต่เงินไม่ได้เข้ามาเหมือนกับการเป็นลูกจ้าง ที่มีเงินเข้ามาประจำทุกเดือน

ข้อที่หก การทำเกษตร ต้องใช้เวลาทำงาน มากกว่า การเป็นลูกจ้าง เพราะทำงานประจำใช้เวลาแค่ เวลางาน แต่พอทำเกษตร คุณอาจจะต้องใช้เวลาทั้งวัน โดยไม่มีวันหยุด เพราะต้องดูแลเอาใจเพื่อฟูมฟักให้พืชนั้น เติบโต เหมือนกับการดูแลเด็กน้อยคนหนึ่งให้เติบใหญ่ ดังนั้นเตรียมใจให้พร้อม

ข้อที่เจ็ด การดูแลใส่ใจ มีผู้กล่าวว่า “รอยเท้าของเจ้าของ คือ ปุ๋ยชั้นดีของพืช” เจ้าของเหยียบย่ำไปถึงตรงไหน พืชก็เจริญเติบโตไปถึงนั่น ซึ่งตีความได้ถึง “ความใส่ใจ” เจ้าของควรหมั่นเดินตรวจตรา ดูความเปลี่ยนแปลง สังเกตพืชพันธุ์ที่ตัวเองปลูกทุกต้น บ่อยเท่าที่จะเป็นไปได้

ทำเกษตรลาออกจาก ลูกจ้างคิดให้ดีก่อน