Tuesday, 16 April 2024

เปิดเรื่องราว ครูรุ่ง อดีตครูบัญชีดีเด่น จากคนไม่มีเงินเก็บ หันมาเรียนรู้ทำเกษตรผสมผสาน สู่รายได้หลักหมื่น/เดือน มีเงินเก็บหลักล้าน

มันเป็นสิ่งวิเศษที่สุดในชีวิต จากคนที่ไม่มีแก่นสาระ ใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ใช้ชีวิตไร้ค่าไปวันๆ ไม่มีเงินเก็บ พอเปลี่ยนมาทำเกษตรตามแนวคิดของในหลวง ร. 9 ตอนนี้มีเงินล้าน มีที่ 10 ไร่ คิวตารางบรรยายอบรมให้คนไทยและต่างชาติที่มาดูงานที่ไร่เต็มทุกเดือน นั่นคือความรู้สึกแห่งความภูมิใจของ นางขนิษฐา มะโนสมบัติ หรือ ครูรุ่ง วัย 45 ปี อดีตครูบัญชีดีเด่น รองชนะเลิศอันดับ 2 ประจำปี 2558 ของ จ.เชียงราย เกษตรกรตัวอย่างที่นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้จนประสบความสำเร็จในอาชีพ มีเงินเป็นล้าน รายได้เดือนละ 5 หมื่นบาท

ครูรุ่ง เปิดใจกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ถึงเส้นทางชีวิตจากครูบัญชีอาสาหันมาทำเกษตรว่า เริ่มจากเป็นแม่บ้านเลี้ยงลูก 3 คนเพียงลำพังจากเงินของสามีที่ส่งมาจากต่างประเทศเดือนละ 3 หมื่น สามีรักและหวงมาก เพราะอดีตเป็นธิดาลิ้นจี่ของ อ.พญาเม็งราย จึงให้ทำหน้าที่เลี้ยงดูแลลูกอย่างเดียว

พอลูกๆ ไปโรงเรียน ใช้เงินมือเติบจ่ายฟุ่มเฟือยและสุรุ่ยสุร่ายกับของกิน ของใช้ราคาแพงที่ขายในห้างเท่านั้น ขาดการบริหารวางแผนการเงิน สุดท้ายเงินไม่พอใช้และไม่เหลือเก็บ ทุกสิ้นเดือนต้องเอาสร้อยทองไปจำนำ

ทำแปลงปลูกผัก

ครูรุ่งเครียดหนักกับชีวิต คิดมากจนป่วยและไปหาหมอทุกเดือน มีอาการปวดหัว ปวดท้องโดยไม่รู้สาเหตุ จิตตกกลัวเป็นนิ่ว โรคไต เหตุจากกินข้าวไม่ตรงเวลา ตกกลางคืนไม่หลับไม่นอน เดินวนเวียน คิดแต่ว่าทำไงดีกลัวสามีทิ้งหากกลับมาแล้วรู้ว่าไม่มีเงินเก็บสักบาท สุดท้ายกลายเป็นโรคซึมเศร้า จนต้องรีบรักษากับหมอจิตเวชนาน 3 ปี

ชีวิตครอบครัวเกือบพังสลาย โชคดีที่ระหว่างรอพบหมอที่ รพ. คนไข้อีกคนทักว่าเป็นคนบ้า อีกทั้งชาวบ้านครหาว่าเป็นคนไร้ค่า ไม่ช่วยเหลือสังคม อยากเอาชนะคำพูดเหล่านี้ จึงหันมาศึกษาดูงานกับศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของครูบุญเป็ง จันต๊ะภา ปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้ด้านเกษตรพอเพียงและการทำเกษตรผสมผสาน

เริ่มทำสวนตอนอายุ35 ทำแปลงผัก 5 แปลงในพื้นที่ 53 ตร.ว. เหนื่อยมาก จากแต่ก่อนต้องพึ่งยาช่วยคลายเครียดให้นอนหลับ แต่พอมาทำเกษตรแล้วหลับสบายมากทุกคืนเพราะเหมือนได้ออกกำลังกายไปในตัว รู้สึกภูมิใจมากที่ทำเกษตรได้ทั้งๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน มันไม่ยากเหมือนที่คิด ขอให้ลงมือเท่านั้น เห็นผลแน่นอน หว่านผักบุ้ง ผักชี อีกไม่กี่วันก็เก็บกินได้ จากแต่ก่อนจ่ายค่าซื้อไข่ไก่เดือนละ 960 บาท ตอนนี้ไม่ต้องซื้อแล้ว เพราะไปหยิบจากในเล้าของเราได้

ทำสวนเลี้ยงกบ

ครูรุ่งเล่าด้วยน้ำเสียงแห่งความสุขกับผลผลิตที่เหลือจากการเก็บผลผลิตไว้กินเอง ครูรุ่งเล่าว่านำไปแบ่งปันให้คนในชุมชน หรือบางคนก็มาเก็บเองในสวน คนจึงเริ่มรู้จักมากขึ้นเพราะเล่าต่อๆ กัน คนมาศึกษาดูงานมากล้นจนเปิดเป็น “ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง 53 ตารางวา แก้จน” นับเป็นครัวเรือนหลังแรกที่เป็นต้นแบบของ จ.เชียงรายในการจัดการบริหารพื้นที่ของบ้านให้เกิดประโยชน์สูงสุด

นอกจากนี้ครูรุ่งยังหันมาเป็นจิตอาสาพัฒนาชุมชน เมื่อมีการอบรมเกี่ยวกับการเกษตรที่ไหนก็ไป แล้วนำความรู้ที่ได้มาใช้ในสวน อีกทั้งทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้การทำบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือน และการดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้กับคนที่มาดูงานในศูนย์เรียนรู้ฯ เพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ช่วยปลดหนี้และมีเงินออมด้วยต่างชาติเข้ามาศึกษาดูงานในไร่ ตลอด 7 ปี มีผู้สนใจมาเรียนรู้และศึกษาดูงานวิถีการทำการเกษตรแบบพอเพียงมากขึ้นๆ และกลับไปทำตามอีกหลายครัวเรือน ครูรุ่งจึงปิดศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งนี้ แล้วหันมาสร้าง “ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ 10 ไร่แก้จน” แบ่งพื้นที่ปลูกข้าว 7 ไร่ สวนเกษตร 2 ไร่ ปลูกหน่อไม้หวาน เลี้ยงสัตว์ ลงสวนเงาะ สวนมะม่วง และอีก 1 ไร่ เป็นพื้นที่บ้าน แต่ยังมีการจำลองศูนย์การเรียน 53 ตารางวาไว้

เปิดศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง

ไม่คิดเลยว่าศาสตร์พระราชาจะประเสริฐอย่างนี้ ทำให้ชีวิตที่เกือบล้มเหลว ไม่มีคนยอมรับนับถือ กลับมาพลิกผัน มีความสุขอีกครั้ง ครอบครัวมีความมั่นคงทางอาหารที่อุดมสมบูรณ์ มีรายได้และมีเงินเเก็บออม เพราะไม่ต้องจ่ายค่ากับข้าวเดือนละหมื่นเหมือนในอดีต ณ วันนี้ไม่ได้ไปจ่ายตลาดเลยตั้งแต่ทำเกษตรมา 8 ปีแล้ว เพราะทุกอย่างมีให้กินในบ้าน ที่น่าภูมิใจที่สุดคือลูกทั้ง 3 ทำสวนเป็น เลี้ยงปลา เลี้ยงกบเป็นหมด และลูกทุกคนสามารถบรรยายแทนได้ ถ้าพ่อแม่เลี้ยงลูกแบบครูรุ่งอนาคตเด็กๆ ก็ไม่เป็นภาระกับสังคม เป็นคนมีคุณภาพต่อชุมชนและ เยาวชนก็หันมาสนใจทำเกษตรมากขึ้น อาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่มั่นคง มีรายได้มั่งคั่ง หากเราบริหารเป็น ตอนนี้เป็ดส่งไปที่ลาวเยอะมาก แต่ในไทยคนเลี้ยงน้อยมาก

การจดบันทึกบัญชีรายรับ รายจ่ายเปลี่ยนชีวิตคนให้ดีขึ้นได้ หากเคร่งครัดและทำจริงจัง บวกกับใช้ชีวิตอยู่อย่างพอเพียง และเข้าใจ นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 มาใช้ ความเป็นอยู่ของทุกคนมีความสุขและมั่นคงแน่นอน และอยากฝากถึงรัฐบาลว่าควรมีนโยบายสนับสนุนให้คนไทยลดหรือเลิกการเล่นพนันโดยรณรงค์ให้ประชาชน รู้จักพึ่งพาตนเอง ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ และมีการส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสมของแต่ละพื้นที่หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว คนจะได้ไม่ไปหมกมุ่นเล่นการพนันเหมือนชีวิตครูรุ่งที่เคยก้าวพลาดมาแล้ว ” ครูรุ่งกล่าวทิ้งท้าย ครูรุ่ง คือเกษตรกรไทยตัวอย่าง จากคนที่เกือบล้มเหลวในชีวิต กลับมีความสุขได้จากการเกษตรของตนเอง และพร้อมต้อนรับและถ่ายทอดวิถีชีวิตตามรอย ในหลวง ร. 9 ให้กับผู้มาเยือนเสมอ

ขอบคุณที่มา https://www.asurveythai.com/000358-2/