Friday, 29 March 2024

เด็กหนุ่มจบ ป.6 เปลี่ยนจากแรงกดดัน เป็นแรงผลักดัน สู่เกษตรรุ่นใหม่ตามแนวคิดเกษตรตามรอยพ่อ

อีกหนึ่งตัวอย่างเกษตรกรที่น่าศึกษา สำหรับเรื่องราวเส้นทางชีวิตที่ไม่ธรรมดาของ “น้องหยก” ได้กลายเป็นแนวทางของเด็กที่เรียนไม่เก่ง แต่ขยันและใฝ่เรียนรู้ในด้านอื่น ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ สำหรับ “จุลเทพ บุณยกรชนก” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสตรีอ่างทอง ที่มีปัญหาคือ เรียนไม่เก่ง ได้เกรดเฉลี่ย 1 กว่ามาตลอด โดนคนรอบข้างและเพื่อนบ้านตำหนิอยู่ตลอดว่า ความรู้น้อยนิดจะไปทำอะไรกิน จะหาเลี้ยงตัวเองได้หรือเปล่า

น้องหยกเล่าว่า “ตัวเองเกิดในครอบครัวธรรมดา คุณพ่อเป็นเกษตรกร ปลูกผักเองบ้าง แต่เฉพาะผักพื้นบ้านเพื่อไว้รับประทานเท่านั้น ตอนอยู่ ป.1 เริ่มเข้ามาช่วยพ่อปลูกผัก ทำปุ๋ย ก็เริ่มซึมซับประสบการณ์ต่างๆมาจากคุณพ่อบ้าง” คุณพ่อน้องหยก เริ่มอาชีพเกษตรกรตอนปี 2547 ฉะนั้น หยกจึงคลุกคลีกับวิถีชีวิตเกษตรกรมาตั้งแต่เล็กๆ สั่งสมประสบการณ์การปลูกผัก ทำปุ๋ย ทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจเรื่อยมา จนกระทั่งเริ่มทำจริงๆในปี 2558

จากความกดดัน เด็กหนุ่มคนนี้ได้เปลี่ยนมันให้เป็นแรงผลักดัน ให้ตนเองค้นพบสิ่งที่ตัวเองถนัดจนเจอ นั่นคือ เป็นเกษตรกรตามรอยพ่อ แต่เพิ่มไอเดียเด็กรุ่นใหม่แหวกแนวคิดทฤษฎีใหม่ ใส่การตลาดด้วยการเปิดเฟซบุ๊กใช้ชื่อ “มังกรหยก คุณชายผักสลัด” ล่าสุดฟีดแบ็กดีเกินคาด เปิดศูนย์เรียนรู้การปลูกผักสลัด รับหน้าที่เป็นติวเตอร์สอนทุกขั้นตอนให้แก่บรรดาผู้ที่สนใจ“น้องหยกได้เปลี่ยนคำครหาคนรอบข้าง ให้กลายเป็นแรงผลักดันพัฒนาตนเองจนได้ดี”

สาเหตุที่หยกหันมาสนใจทำเกษตร เจ้าตัว บอกว่า ส่วนหนึ่งมาจากการดูถูกของคนรอบข้าง ที่มักจะตำหนิว่า เรียนหนังสือไม่เก่ง เรียนไม่เอาไหน ช่วงแรกท้อไม่อยากทำอะไร แต่เมื่ออยู่บ้านไปนานๆ เริ่มสนใจการปลูกผัก และเข้ามาช่วยพ่อในทุกขั้นตอน

ไม่ใช่แค่ตามรอยพ่อเท่านั้น หยกยังสร้างความแตกต่างโดยเลือกที่จะปลูกผักสลัดแทนผักพื้นบ้าน ปรับพื้นที่ให้เป็นเกษตรอินทรีย์ หรือ ออร์แกนิก คือการปลูกพืชที่ไม่ใช้สารเคมี ตั้งเป้าภายในปี 2559 พื้นที่ปลูกต้องได้ตรารับรอง Organic Thailand หรือ ระบบการรับรองมาตรฐานการผลิตพืชอินทรีย์ จากกรมวิชาการเกษตร เพื่อยกระดับผลผลิตเป็นที่ยอมรับ

การเลือกปลูกผักสลัดแทนผักพื้นบ้าน หยก บอกว่า ในจังหวัดอ่างทองไม่ค่อยมีคนปลูก ไม่เหมือนผักพื้นบ้าน ที่ทุกบ้านปลูกกันเยอะแล้ว ซึ่งขั้นตอนการปลูกผักสลัดให้เป็นออร์แกนิก ลำดับแรก พื้นที่ปลูกต้องเว้นจากการใช้เคมีมานาน 3 ปี เตรียมดินล่วงหน้า 7 วัน เมล็ดพันธุ์ต้องไม่ตัดต่อพันธุกรรม ช่วงระยะเวลาที่ปลูกต้องไม่ใส่สารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น มีคำแนะนำ ดินที่ใช้ปลูกผักสลัดควรเป็นดินร่วนซุย ใส่อินทรียวัตถุ ได้แก่ แกลบดำ แกลบดิบ ขุยมะพร้าวละเอียด ส่วนสมุนไพรไล่แมลงและปุ๋ยก็ต้องมาจากธรรมชาติเช่นเดียวกัน

สำหรับผักสลัดมี 3 ชนิด ผักกาดคอรัล (ผักกาดหอมใบแดง) ฟิลเลย์ไอซ์เบิร์ก ผักเรดโอ๊คและกรีนโอ๊ค มีทั้งสีแดงและสีเขียว เนื้อที่ปลูกผักสลัดแห่งนี้ ราว 1 ไร่ครึ่ง วิธีการปลูกของน้องหยก เขาจะแบ่งเป็นแปลงเพื่อง่ายต่อการเก็บผลผลิต ขนาดแปลง หน้ากว้าง 1.20 เมตร ยาว 5 เมตร 1 แปลง ปลูกผักสลัดได้ 100 ต้น ให้ผลผลิต 4-5 กิโลกรัม 1 กิโลกรัมได้ผัก 13-15 ต้น ใส่ปุ๋ยทุกวัน รดน้ำทุกวัน ผักโตสมบูรณ์ รสชาติดี ไม่ขม

ยังมีเคล็ดลับ ซึ่งเป็นทฤษฎีใหม่แหวกแนวชาวบ้านที่หยกคิดขึ้นเอง นั่นคือ
1. รดน้ำตอนกลางวัน เพราะตอนกลางวันแดดจะแรงมาก ผักยิ่งจะต้องปรับตัวสู้ความร้อน หากไม่มีน้ำคอยช่วยให้ความชุ่มชื้น ผักจะสร้างยาง และทำให้โครงสร้างภายนอกแข็งกระด้าง อีกทั้งยังมีผลต่อรสชาติของผัก ผักจะมีรสขมมาก จึงหันมารดน้ำตอนกลางวัน แต่อย่าให้ชุ่มจนแฉะ
2.ให้ปุ๋ยน้ำอินทรีย์ทุกวัน ต้องเป็นช่วงเวลา 09.00-11.00 น. เป็นช่วงเวลาที่ดีสุด
3.รดสมุนไพรไล่แมลง ตอนเย็นทุกวัน หลัง 18.00 น. ไปแล้ว ผักออกมาสวย ต้นงาม แข็งแรง
4.ใช้จุลินทรีย์ทำจากหน่อกล้วย รดในช่วงเช้าก่อน 07.00 น. เพื่อสู้เชื้อราบนใบผัก

การเพาะต้นกล้าก็สำคัญมาก หยกจะทำการเพาะต้นอ่อน ก่อนลงแปลงปลูก ใช้ถาดเพาะขนาด 104 หลุม นำมาบากหน้าดินให้เกิดรอย แล้วค่อยหยอดเมล็ดเพาะ จากนั้นรดน้ำแบบพรม พอชุ่ม รดในลักษณะสเปรย์ ต้นกล้าเกิดใบจริง 4 ใบ จึงจะนำลงแปลงปลูกได้

จากการดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี จนลูกค้าต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ผักสลัดที่นี่รสชาติอร่อย หวาน ไม่ขม ต้นใหญ่ ด้านการทำตลาด เจ้าของส่งตามร้านอาหาร ร้านสเต๊กในจังหวัดอ่างทอง ร้านอาหารที่สั่งซื้อต้องสั่งล่วงหน้า 60 วัน เพราะผักสลัดต้องใช้เวลาปลูกนาน 55 วัน ถึงจะได้ผลผลิต แต่ละสัปดาห์มีออร์เดอร์เข้า 500 กิโลกรัม แต่ผลผลิตที่ได้ สัปดาห์ละ 120-150 กิโลกรัม เท่านั้น จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 100 บาท เนื่องจากผลผลิตที่ได้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด หลังจากนี้ หยก วางแนวทางการขยายการผลิต โดยใช้วิธีไปหาเช่าที่ดิน อยากได้ประมาณ 10 ไร่ เพื่อลงทุนทำเกษตรอินทรีย์ และตั้งใจว่าจะยึดอาชีพเกษตรกรต่อไป

การที่ชายหนุ่มวัยรุ่นทุ่มเท ทดลองผิดถูกมาเป็นระยะเวลานาน จนมีความรู้สั่งสมมามากพอ และอยากแบ่งปันความรู้การทำเกษตรแบบนี้ โดยเปิดศูนย์การเรียนรู้การปลูกผักสลัด เผยทุกขั้นตอนให้แก่บรรดาผู้ที่สนใจ ทุกวันเสาร์ ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เฟสบุค มังกรหยก คุณชายผักสลัด

Cr. ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : เฟสบุค คุณชายผักสลัด , คนค้นคน