Friday, 29 March 2024

“เกษตรผสมผสาน ทางเลือกสู่ทางรอด”คนที่ขยันอยู่ที่ไหนก็ไม่มีวันอด การได้ทำในสิ่งที่ตนรักเป็นทางออกที่ดีและได้ผลเร็วที่สุด

คน​ที่​จะ​ทำเกษตร​ต้อง​รู้​
“เกษตรผสมผสาน ทางเลือกสู่ทางรอด” ความรู้จากการปฏิบัติของ นายแสวง ทองสุข ครูภูมิปัญญาแห่งลุ่มน้ำยาว อ.สองแคว จ.น่าน นายแสวง ทองสุข ที่หันหลังให้กับชีวิตเมืองหลวงกลับมาทำเกษตรที่บ้าน และจังหวะโชคดีเป็นปีเดียวกับที่มูลนิธิศุภนิมิตได้เข้ามาในหมู่บ้าน และรับสมัครเกษตรกรที่สนใจจะไปอบรมศึกษาดูงานที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง

ซึ่งนายแสวงได้ตัดสินใจสมัครเข้าร่วมการดูงานในครั้งนั้น เพราะหวังว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตเกษตรกรธรรมดา ๆ คนหนึ่ง ที่รักและสนใจในการทำเกษตรแบบผสมผสาน “ไม่คิดที่จะหวังรวย แต่คิดเสมอว่าทำยังไงให้ครอบครัวพอมีพอกิน และมีรายได้ตลอดทุกวัน แค่นี้ก็เพียงพอแล้วกับชีวิต”

หลังจากที่ได้ไปดูงานกลับมา นายแสวงได้เห็น ได้จำ มาถึงบ้านก็ “ทำ ทัน ที” เพราะเป็นสิ่งที่ตนเองใฝ่ฝันอยากทำมานานแล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาขาดองค์ความรู้ที่จะทำแค่นั้นเอง นายแสวงเล่าให้ฟังว่า การทำเกษตรผสมผสานของตน ยึดหลักการที่ให้มีความหลากหลายของกิจกรรม ทั้งในส่วนของการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เพื่อสร้างรายได้ตลอดปี เพราะตนมีพื้นที่จำกัด

ดังนั้นพืชและสัตว์ที่จะนำมาปลูกและเลี้ยงจึงต้องผ่านการศึกษาหาความรู้ก่อนเสมอ ทั้งในเรื่องการเจริญเติบโต ผลตอบแทน การหมุนเวียนและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรภายในสวน และความหลากหลายในการใช้ประโยชน์ เพื่อให้สวนเกษตรเป็นเสมือนห้างสรรพสินค้าใกล้บ้านที่มีทุกสิ่งให้เลือกสรร ไม่เพียงแต่ตนเองและครอบครัว แต่ยังเผื่อแผ่ไปถึงเพื่อนบ้านในหมู่บ้านยอดอีกด้วย

สิ่งแรกที่นายแสวงลงมือทำทันที
1. การเลี้ยงปลาดุก สิ่งแรกที่นายแสวงลงมือทำทันทีหลังกลับมาจากการดูงาน คือการขุดบ่อดินขนาด 3 x 3 x 2 เมตร ด้วยตนเองเพื่อที่จะใช้เลี้ยงปลาดุก เนื่องจากมูลนิธิศุภนิมิตสนับสนุนพันธุ์ปลาดุกให้คนที่ไปดูงานคนละ 2 ถุง ๆ ละ100 ตัว อาหารที่ใช้เลี้ยงก็อาศัยจากธรรมชาติเศษใบไม้ จะให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปบ้างตอนปลายังเล็กเพื่อเร่งการเจริญเติบโต จนทำให้ครอบครัวมีรายได้จากการขายปลาปีละ 5,000 บาท ปัจจุบันบ่อดินดังกล่าวก็ยังมีการเลี้ยงปลาดุกอยู่ และขุดบ่อดินขนาด 4 X 4 X 3 เมตร เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งบ่อ ซึ่งได้รับการสนับสนุนผ้ายาง PE ปูบ่อและพันธุ์ปลากินพืชอย่าง ปลานิล ปลาไน ปลายี่สก รวมทั้งหมด 200 ตัว จากโครงการปิดทองหลังพระฯ การให้อาหารปลากินพืชของนายแสวงเป็นสูตรเฉพาะตัวเรียกว่า “อาหารปลาสลับต้นสา” กล่าวคือ จะให้อาหารเม็ดปริมาณ 1 ขันน้ำพลาสติกก่อน จากนั้นอีกวันก็จะใช้รำละเอียดควบคู่กับต้นมันสำปะหลังที่คนเมืองเหนือรู้จักกันในชื่อต้นสา 3 -4 ต้น (หากเป็นกิ่งก็ 7 – 8 กิ่ง) สลับกันไปกับอาหารสำเร็จ ต้นสาไม่เพียงช่วยทำให้ปลาอิ่มท้องเท่านั้น แต่ยังมีสรรพคุณทางยาช่วยในเรื่องระบบขับถ่ายของปลาอีกด้วย

2. การเลี้ยงกบ นายแสวง ได้ทดลองเลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ เริ่มจากการซื้ออิฐบล็อกมาก่อเป็นบ่อขนาด 3 x 2 เมตร และซื้อพันธุ์กบ 100 ตัว ในราคาตัวละ 1.50 บาท ใช้อาหารเม็ดต้นทุนกระสอบละ 350 บาท 2 ถุง ระยะเวลา 3 เดือน กบก็สามารถขายได้แล้ว มีรายได้จากการขายกบปีละ 5,000 บาท ไม่เพียงแต่เลี้ยงกบขายอย่างเดียว นายแสวงยังสามารถขยายพันธุ์กบด้วยตัวเอง เพื่อลดต้นทุนในการซื้อพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ โดยมีเทคนิคคือ จับกบตัวผู้และตัวเมียแยกออกมาไว้อีกบ่อ เพื่อให้ผสมพันธุ์กัน เมื่อกบวางไข่ก็จะจับพ่อและแม่พันธุ์ออก แล้วคอยเปลี่ยนน้ำให้สะอาดอยู่ตลอด ให้อาหารเม็ดจนกว่าลูก อ็อดจะโตเต็มวัย แล้วเลี้ยงปกติ

3. การเลี้ยงหมูเหมยซาน นายแสวงได้รับการสนับสนุนหมูเหมยซานเพศเมีย 1 ตัวมาจากโครงการปิดทองหลังพระฯ เมื่อปี 2553 โดยมีข้อแม้ว่าเป็นการให้ยืมเมื่อหมูคลอดแล้วคนที่เลี้ยงจะต้องคืนลูกหมู 3 ตัว เพื่อที่จะเอาไปต่อยอดให้คนอื่นที่สนใจจะเลี้ยงต่อไปในลักษณะของกองทุน ซึ่งนายแสวง ได้คืนลูกหมูให้กับโครงการฯไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อปี 2554 และเลี้ยงมาเรื่อยปัจจุบันมีเหลือหมู อยู่ 2 ตัว รายได้จากการขายหมูอยู่ที่ปีละ 15,000 บาท โดยใน 1 ปีจะขายอยู่ 2 ครั้ง

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น นายแสวงมีรายได้จากการทำเกษตรผสมผสานปีละไม่ต่ำกว่า 70,000 บาท ซึ่งเป็นรายได้จากการขายหมู 15,000 บาท กบ 5,000 บาท ไก่พื้นเมืองและเป็ด 5,000 บาท ปลา 5,000 บาท มะนาว 36,000 บาทส้มโอ 3,000 บาท และอะโวคาโด 1,500 บาท นอกจากนี้ยังมีรายได้รายวันจากการจัดการแปลงเกษตรวันละไม่ต่ำกว่า 600 บาท ลดรายจ่ายค่าอาหารเดือนละ 1,000 บาท ไม่มีหนี้สิน และมีเงินเก็บออมปีละประมาณ 30,000 บาท
นายแสวง กล่าวทิ้งท้ายว่า “การได้ทำในสิ่งที่ตนรัก และลงมือปฏิบัติจริง ลองผิดลองถูก คนไหนที่ไม่ทำก็ไม่มีกิน รอแต่เขาเอามาให้ก็จะรอไป คนที่ขยันอยู่ที่ไหนก็ไม่มีวันอด เกษตรผสมผสานเป็นทางออกที่ดีที่สุด และได้ผลเร็วที่สุด”

บ่อพวง คือ บ่อน้ำที่ขุดขึ้นมาเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ทางการเกษตร และยังสามารถเลี้ยงปลาไว้สำหรับบริโภคได้ ซึ่งบ่อพวงนี้จะมีความแตกต่างจากบ่อน้ำปกติทั่วไปตรงที่บ่อพวงจะมีหลายบ่อพ่วงกันเป็นลำดับ ลดหลั่นกันลงมาตามความสูงต่ำของพื้นที่ บ่อที่อยู่สูงสุดจะเป็นบ่อแม่ที่ทำหน้าที่รับน้ำจากฝาย และต่อท่อไปลงบ่อลูกที่อยู่ต่ำลงไป โดยปกติแล้วพื้นที่รับน้ำของแต่ละบ่อจะมีขนาดไม่เท่ากันพื้นที่ที่จะสร้างบ่อเก็บน้ำได้ อาจไม่อยู่ในที่ที่เป็นพื้นที่รับน้ำ ดังนั้นหากพื้นที่ใดมีปริมาณฝนตกเยอะแต่ความจุบ่อน้อย น้ำที่เกินออกมาจะล้นสู่ทางน้ำธรรมชาติครับ