Thursday, 18 April 2024

“อาโวคาโด” ผลไม้พระราชทาน โครงการหลวงสู่ชุมชน สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้กับชาวสวน

วันนี้ขอนำเสนอเรื่องราว นายยุทธนาศักดิ์ แก้วคำ หรือ โจ้ เด็กหนุ่มอนาคตไกล วัย 25 ปี บัณฑิตหนุ่มจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาเขตแพร่ คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 32 หมู่ 3 ต.แม่ฮี้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ผู้เป็นเจ้าของ “ไร่ยังคอย” ที่ปลูกอาโวคาโด และผลไม้เมืองหนาว

ซึ่งเป็นผลไม้พระราชทาน จำนวนกว่า 20 ไร่ในพื้นที่ อ.กัลยาณิวัฒนา จ.เชียงใหม่ ดำเนินการมานาน 6 ปี ปัจจุบันได้มีการส่งเสริมขยายพื้นที่ปลูก อาโวคาโด้ ให้แก่เกษตรกรพื้นที่สูงในหลายจังหวัด อาทิ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก และส่งเสริมด้านการตลาดรองรับผลผลิตของชาวสวนอย่างต่อเนื่อง ช่วยสร้างรายได้ให้กับชาวสวนผู้ปลูกอาโวคาโดให้มีรายได้ไม่น้อยกว่า 1 แสนบาทต่อไร่

นอกจากนี้ยังแปรรูปผลผลิตสด อาโวคาโด มาสกัดเป็นผลิตภัณฑ์ เครื่องสำอาง บำรุงผิวพรรณความงามออกจำหน่ายสู่ท้องตลาดจนสามารถสร้างรายได้ถึงหลักล้านต่อเดือน ยุทธนาศักดิ์ เล่าถึง ที่มาของการปลูกอะโวคาโด ว่าเมื่อ( พ.ศ. 2522 ) พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎรชาวเขาในเขตหมู่บ้านวัดจันทร์ ( อ.กัลยาณิวัฒนา ปัจจุบัน )

ซึ่งราษฎรส่วนใหญ่เป็นชาวไทยภูเขาชนเผ่ากะเหรี่ยง มีอาชีพทำนาในพื้นที่ลุ่มระหว่างหุบเขา มีการบุกรุกแผ้วถางป่า ทำไร่เลื่อนลอย จึงมีพระราชดำริให้มีการพัฒนาบ้านวัดจันทร์ และหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยครอบคลุมพื้นที่ 17 หมู่บ้าน ซึ่ง “ไร่ยังคอย” ก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยอยู่ห่างจากโครงการหลวงเพียง 500 เมตร

สำหรับพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ ทำการทดสอบพันธุ์พืช โดยเน้นว่า ต้องต้านทานโรคและคุณภาพผลผลิตดี เพื่อที่จะได้นำไปถ่ายทอดและส่งเสริมให้กับเกษตรกรปลูกต่อไป ซึ่งพืชและสายพันธุ์ที่ทดสอบ มีทั้งหมด 19 ชนิด ผักกาดหวาน ถั่วลันเตา ผักกาดหอมห่อ กะหล่ำปลีรูปหัวใจ โอ๊คลีฟแดง เรคคอลัน แรดิชชิโอ สลัดแดง กะหล่ำปลีแดง สวีทชาร์ท และอาร์ติโช๊ค นอกจากนั้นยังมีผลไม้ อาทิ ส้มพองกัลป์ ส้มคัมควัท อะโวกาโด พลับ พลัม บ๊วย มะม่วงนวลคำ และสาลี่

ยุทธนาศักดิ์ เผยอีกว่า “นับตั้งแต่บัดนั้นมา ดินแดนแห่งนี้ก็มีผลไม้วิเศษที่พระราชทานมาจากพระราชา นั่นคือ “อะโวคาโด” ที่สร้างรายได้ สร้างอาชีพให้เหล่าราษฎรนับร้อยนับพันคน นี่คือพระอัจฉริยภาพของพระองค์ท่านโดยแท้” ปัจจุบันปี 59 ไร่ยังคอย ขยายพื้นที่ปลูกอะโวคาโดกว่า 20 ไร่ ปลูก 3 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ปีเตอร์สัน พันธุ์แฮส และ พันธุ์กลาย ซึ่งพันธุ์แฮสเป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการมากเพราะรสชาติดี ราคาสูงถึง กิโลกรัมละ 200 บาท แต่การดูแลรักษาค่อนข้างยาก ให้ผลผลิตน้อย ส่วนพันธุ์กลายและพันธุ์ปีเตอร์สัน รสชาติไม่คงที่ แต่ให้ผลผลิตมาก ราคาต่ำกิโลกรัมละ 10 -15 บาท

โดยพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกอาโวคาโด ได้จำนวน 45 ต้น ปลูกแบบปลอดสารเคมี และดูแลแบบธรรมชาติ ผลผลิตต่อปี ราว 10 -15 ตัน เก็บผลสดขายต่อไร่มีรายได้เกือบ 2 แสนบาท สำหรับอะโวคาโดผลสด ลูกสวย เนื้อเยอะ น้ำหนักต่อลูก 5 ขีด ถึง 1 กิโลกรัมจะถูกคัดขายเองโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง จำหน่ายตั้งแต่ราคา 80-100บาท ปัจจุบันมีเกษตรกรใน จ.แม่ฮ่องสอน นิยมปลูกอาโวคาโดกันเป็นจำนวนมากขึ้น จึงคิดหาแนวทางเพิ่มมูลค่าผลผลิตที่มีอยู่เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว และสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน โดยได้ศึกษาข้อมูลก็พบว่า อะโวคาโด เป็นไม้ผลที่มีคุณค่าทางอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายสูงมาก ผลอะโวคาโด อุดมไปด้วยวิตามิน สารต้านอนุมูลอิสระ และมีแอนตี้ออกซิเดนท์ที่ช่วยบำรุงผิวพรรณ ซึ่งปัจจุบันอาโวคาโดเป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาดจีน และในทวีป อเมริกา ยุโรป เนื่องจากมีการนำอาโวคาโดไปสกัดเป็น เครื่องสำอางค์และผลิตภัณฑ์ความงามบำรุงผิวพรรณหลายยี่ห้อมาก

ภายหลังจากที่ได้ศึกษาถึงสรรพคุณและแผนการตลาดแล้ว จึงแปรรูปผลอาโวคาโด เป็นผลิตภัณฑ์ครีมบำรุงผิวพรรณความงามหลายตัว อาทิ ครีมบำรุง สบู่ กันแดด สครับผิว มาร์คทรีทเมนท์ โดยมีน้องสาวแท้ๆ ซึ่งจบสาขาวิชาเคมีช่วยวิจัยและคิดค้นสูตรโดยเน้น ออแกนิกส์ ปราศจากสารเคมี ปัจจุบันรายได้จากการจำหน่ายอาโวคาโด 20 เปอร์เซ็นต์มาจากการจำหน่ายผลสด และอีก 80 เปอร์เซ็นต์ มาจากการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ ยกตัวอย่างเช่น เฉลี่ยแต่ละวันจะผลิตสบู่อะโวคาโด ได้วันละ 500 ก้อน ขายเกือบหมดทุกวัน ส่งออกไป จีน ลาว สิงคโปร์ ส่วนผลสด ก็มีชาวบ้านทั้งในเชียงใหม่และแม่ฮ่องสอนมารับซื้อเพื่อไปจำหน่ายต่อ

จึงกลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างรายได้ให้เป็นหลักล้านต่อเดือน นอกจากนี้ยังแจกเมล็ดพันธุ์อะโวคาโดให้ชาวสวนที่สนใจปลูกฟรี เพื่อต้องการขยายพื้นที่ให้กว้างขึ้น และรับซื้อผลผลิตจากชาวสวนในราคาที่สูงกว่าท้องตลาด โดยรับซื้อไม่อั้นอีกด้วย ยุทธนาศักดิ์ กล่าว จากเมล็ดพันธุ์ “ ผลไม้พระราชา” ที่พระราชทานสู่โครงการหลวง ได้ถูกน้อมนำแนวทางพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง สานต่อและขยายผลไปสู่ชุมชนราษฎรเกือบทุกพื้นที่ซึ่งขาดโอกาส จนนำมาสู่การ สร้างคน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ ให้อย่างยั่งยืนและสามารถนำผลิตผลที่ได้นำมาขายให้กับชุมชนได้อีกทางหนึ่ง