Friday, 19 April 2024

วิธีปลูกเตยให้ติดงามไว ใบเขียวดก กลิ่มหอม มีเก็บขายตลอดปี

การปลูกเตยในปัจจุบัน นิยมปลูกด้วยการแยกเหง้าหรือหน่อปลูก ทั้งนี้ เตยสามารถขึ้นได้ดีในที่ชุ่ม และทนต่อสภาพดินชื้นแฉะได้ดี แต่ควรเลือกพื้นที่ปลูกไม่ให้น้ำท่วมขังง่าย

เราจะต้องมีพื้นที่จะเพาะปลูก ต้องใกล้น้ำค่อนข้างแฉะ มีน้ำหมุนเวียนตลอดปี มีร่มเงารำไรให้ต้นเตยไม่โดนแสงแดดโดยตรง หรือตามร่องสวน ตามชายบ่อน้ำ ส่วนการปลูกในพื้นนามีการเตรียมดินคล้ายกับการทำนาแต่ทำเพียงครั้งเดียวก่อน ปลูกเพื่อให้พื้นที่เรียบ ระบบน้ำดูแลง่าย ส่วนทางเดินเข้าเก็บเกี่ยวเตยหอมขึ้นอยู่ตามความสะดวกสบายที่ผู้ปลูกต้อง จัดการและวางแผนเองตามความเหมาะสมของพื้นที่ปลูกและขนาดพื้นที่

วิ ธี ก า ร ป ลู ก เ ต ย
ก่อนปลูกต้องเปิดน้ำเข้าแปลงประมาณ 1 ฝ่ามือ หรือประมาณ 15 เซนติเมตร จากนั้นเตรียมต้นพันธุ์เตยหอมที่แข็งแรงที่มีรากปักลงในแปลง โดยทำเหมือนการดำนา จากนั้นดูแลระบบถ่ายเทน้ำดูแลไม่ให้ต้นที่ปักดำลอยขึ้นมา ทิ้งไว้ 3 เดือน จึงเพิ่มปริมาณน้ำขึ้น หลังจากปลูก 6 เดือน สามารถเก็บเกี่ยวได้ การเก็บเกี่ยวใช้มีดตัดยอด อย่าเสียดายยอด การตัดยอด 1 ยอด ทำให้เกิดยอดใหม่มากมาย

โดยเฉลี่ยตัดไป 1 ยอด จะได้ยอดใหม่ 3-5 ยอด ทั้งนี้ การดูแลบำรุงรักษาต้นเตยหอมนั้นก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไรมาก เพียงแต่เกษตรกรจำเป็นต้องเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ มีการปรับพื้นที่ให้โล่ง ไม่มีวัชพืชขึ้นปกคลุมต้นเตยหอม เพราะจะทำให้ใบเตยหอม หรือต้นเจริญเติบโตช้า และใบไม่สวย ควรจะใส่ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก บำรุงต้น และใบบ้าง

เพื่อให้ต้นเตยหอม มีความอุดมสมบูรณ์สำหรับใบเตยหอม ที่ส่งขายไปยังท้องตลาด ก็สามารถจะนำไปประกอบอาหารคาว หวาน ได้ตามความต้องการ นอกจากนี้ก็ยังไปประกอบร่วมกับดอกไม้ในการไหว้พระ ซึ่งในตลาดมีความต้องการใบเตยหอมเป็นอย่างมาก

ทริกเล็กๆน้อยๆ ควรตัดใบเตยจากด้านล่างของลำต้นไล่ขึ้นไปด้านบน เพื่อให้ได้ใบเตยที่ดีและมีคุณภาพนั้นโดยให้เหลือส่วนที่เป็นใบและยอดแต่ละต้นประมาณ 15 ใบ และเว้นช่วงเวลาในการตัดใบแต่ละต้นประมาณ 3 วัน เพื่อให้ต้นไม่โทรมและยืดระยะเวลาการเก็บเกี่ยวใบเตยได้นานหลายปียิ่งขึ้น

ก า ร คั ด เ ลื อ ก ก ล้ า พั น ธุ์
หน่อที่ดี ควรเลือกที่มีองค์ประกอบของส่วนต่างๆครบและสมบูรณ์ คือ มียอดและใบที่สมบูรณ์ โดยจะอยู่ที่ประมาณ 10 ใบ หน่อไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป และมีรากพอที่จะดูดน้ำและอาหารไปหล่อเลี้ยงลำต้นได้แต่ไม่ยาวจนเกินไป เพราะจะทำให้หน่อที่ปลูกฟื้นตัวได้ช้าและไม่สะดวกในการปลูก

การจำหน่ายเตยหอมแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ แบบขายใบซึ่งในแต่ละเดือน สามารถตัดใบขายได้ถึง 4 ครั้ง โดยจะตัดในช่วงก่อนวันพระ 1-2 วัน ในการตัดก็จะเลือกตัดเฉพาะใบที่ไม่มีตำหนิ ตัดจากใบด้านล่างขึ้นมา ปัจจุบัน สามารถเก็บใบเตยได้ครั้งละกว่า 100-200 กิโลกรัม ในราคากิโลกรัมละ 20 บาท และอีกแบบคือ แบบขายต้นแขนง ซึ่งจะเลือกเก็บเฉพาะต้นที่สมบูรณ์ รูปทรงสวย ในราคาแขนงละ 50 สตางค์ โดยลูกค้าจะนำไปมัดรวมกับดอกไม้กำ หรือนำไปขยายพันธุ์ต่อไป

การปลูกและการดูแลอย่างถูกวิธี จะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกเตยหอมสามารถ ตัดใบเตยหอมขายได้ตลอดทั้งปี และยืดอายุของต้นเตยหอมให้สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้หลายปีโดยไม่ต้องปลูกเพิ่มอีกด้วย

เรียบเรียงโดย เฟจธรรมะเกษตรก้าวหน้า