Thursday, 18 April 2024

ผักแว่น ผักพื้นบ้านที่มากด้วยคุณค่า ขยายพันธุ์ได้เร็ว เก็บเกี่ยวได้ง่าย

ผักแว่น พบได้ทั่วทุกภาคของไทย ภาคใต้เรียกว่า “ผักลิ้นปี่” ตามลักษณะใบย่อยรูปลิ่ม คล้ายลิ้นปี่เครื่องเป่าประโคมดนตรีปี่พาทย์นั่นเอง

ผักแว่น อยู่ในวงศ์ MARSILEACEAE ชื่อวิทยาศาสตร์ Marsilea crenata Presl. ชื่อสามัญ Water Clover เป็นพืชตระกูลเฟิร์น ขยายพันธุ์ด้วยสปอร์ ชอบขึ้นบริเวณที่ดินชื้นและในน้ำ รากเกาะติดกับพื้นดิน มีไหล และเจริญอยู่ในน้ำได้

ผักแว่น มีลำต้นอ่อนสีเขียว เมื่อต้นแก่มีสีน้ำตาล ลำต้นเลื้อยไปตามพื้นดิน ลำต้นค่อนข้างกลม มีขนสีน้ำตาลอ่อนปกคลุม ใบเป็นใบประกอบ มีใบย่อย 4 ใบ รูปร่างใบย่อยมีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมหรือเป็นรูปลิ่ม ออกจากตรงกลางตำแหน่งเดียวกัน

ใบย่อยทั้งหมดรวมกันเป็นรูปกลม ใบย่อยกว้าง 0.5-1.0 เซนติเมตร ยาว 0.8-1.5 เซนติเมตร โคนใบสอบ ขอบใบเรียบ หรือหยักเล็กน้อย แผ่นใบเรียบ ไม่มีขน ก้านใบยาว 4.5-10.5 เซนติเมตร ใบย่อยไม่มีก้านใบ มีสปอร์โรคาร์ป (sporocarps) เป็นก้อนแข็งสีดำ รูปขอบขนาน หรือรูปคล้ายเมล็ดถั่วเขียว ออกที่โคนก้านใบ ขณะที่อ่อนอยู่สีขาว เมื่อแก่สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ

ผักแว่น แม้เป็นวัชพืชที่คอยแย่งน้ำแย่งอาหารต้นข้าวในนา แต่เป็นผักอินทรีย์ที่ทรงคุณค่า มีประโยชน์ เพราะมีคุณสมบัติเป็นพืชสมุนไพรฤทธิ์เย็น ช่วยบรรเทาความร้อนในร่างกาย ผักแว่น 100 กรัม ให้พลังงานแก่ร่างกาย 15 กิโลแคลอรี

ประกอบด้วย เส้นใย (Fiber) 3.3 กรัม แคลเซียม 48 มิลลิกรัม เหล็ก 25.2 มิลลิกรัม วิตามินเอ 12,166 IU. วิตามินบีหนึ่ง 0.10 มิลลิกรัม วิตามินบีสอง 0.27 มิลลิกรัม ไนอะซิน 3.4 มิลลิกรัม วิตามินซี 3 มิลลิกรัม หากใครรู้จักผักแว่น ย่อมตระหนักถึงคุณค่า คุณประโยชน์ และรู้สึกหวงแหนปลูกอนุรักษ์ไว้เป็นสมบัติธรรมชาติของเราอีกนาน

การจะนำผักแว่นมารับประทานนั้น เราต้องคำนึงถึงความสะอาดด้วยครับ เพราะผักแว่นมีที่มาจากหลายที่ หากไม่มั่นใจว่าเป็นผักแว่นจากการเพาะปลูกแบบอินทรีย์หรือปลอดสารจริงๆ ควรล้างทำความสะอาดก่อนครับ เพราะผักแว่นที่เติบโตในท้องนา อาจได้รับสารเคมีจากแปลงนาได้ เมื่อเรารับประทานไปก็อาจมีผลต่อร่างกายเรา ซึ่งตรงนี้กลายเป็นโอกาสทางการตลาดสำหรับเพื่อนๆ

เกษตรกรที่อยากจะลงทุนปลูกผักแว่นไว้ขาย เพราะหากเรามีระบบชลประทานดีๆ ขยายพันธุ์ผักแว่นแบบปลอดสารพิษ ไม่ต้องวุ่นวายกับดิน เพราะผักแว่นเติบโตได้ดีในน้ำอยู่แล้ว ขยายพันธุ์ได้เร็ว ทำให้เราเก็บเกี่ยวได้ง่าย จึงน่าจะเป็นโอกาสที่ดีในการผลิตออกสู่ตลาด ขายในราคาที่ดีขึ้นเพราะปลอดสารพิษร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือจะส่งร้านอาหารสุขภาพก็เป็นช่องทางที่มีโอกาสทีเดียวครับ