Friday, 19 April 2024

นักเรียนปากช่อง คว้ารางวัลสิ่งประดิษฐ์ระดับชาติ เครื่องให้น้ำพืช ระบบน้ำหยดอัตโนมัติ งบหลักพัน

การประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที่ 66 ปีการศึกษา ที่ผ่านมา 2 หนุ่มน้อยจากโรงเรียนย่านปากช่อง คว้ารางวัลเหรียญทอง ลำดับที่ 7 มาครองได้ จึงนับเป็นเด็กเก่งของโรงเรียน ที่ต้องหยิบยกมากล่าวถึงในที่นี้

เพราะสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ที่คว้ารางวัลเหรียญทองมาครองในครั้งนี้ เกี่ยวข้องกับงานด้านเกษตรกรรมและคอลัมน์นี้ ให้เกียรตินักเรียนและสถานศึกษาที่ให้ความสำคัญกับงานด้านเกษตรกรรม

นายพชรพล คุ้มภัย (ซ้าย) และ เด็กชายพิพัฒพงศ์ ลักภูกลาง (ขวา)

2 หนุ่มน้อย คือ นายพชรพล คุ้มภัย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ เด็กชายพิพัฒพงศ์ ลักภูกลาง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ทั้งสองคนมีแนวคิดในการประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ แล้วนำมาใช้กับกิจกรรมเกษตรภายในโรงเรียน

อาจารย์บัณฑิต วงศ์อามาตย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองซ่อมตะเคียนงาม

ตั้งอยู่หมู่ที่ 5 บ้านตะเคียนงาม ตำบลโป่งตาลอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า โรงเรียนบ้านหนองซ่อมตะเคียนงาม มีพื้นที่ทั้งหมด 12 ไร่ เป็นที่ดินที่ได้จากการร่วมกันบริจาคโดยชุมชน ก่อตั้งมากว่า 40 ปีแล้ว มีการเรียนการสอนระดับอนุบาลถึงระดับมัธยมศึกษาศึกษาตอนต้น มีนักเรียนทั้งสิ้น 358 คน บุคลากรทางการศึกษา 18 คน

“โรงเรียนให้ความสำคัญกับการทำเกษตร จึงน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มาใช้ ซึ่งที่ผ่านมาหากเราพูดเพียงน้อมนำมาใช้ แต่ในทางปฏิบัตินักเรียนของเราทำไม่ได้ก็ไม่ได้ถือว่าเป็นการน้อมนำมาใช้จริง จึงควรปรับบริบทให้นักเรียนรู้จริงด้วยการลงมือปฏิบัติให้เกิดขึ้นภายในโรงเรียน”

พื้นที่ 1 ใน 4 ของทั้งหมด ถูกแปลงให้เป็นพื้นที่ทางการเกษตร

พื้นฐานของนักเรียนเกือบทั้งหมด มีความรู้ด้านเกษตร แต่ที่มีที่ดินทำกินทำการเกษตรอยู่แล้ว เพียง 65 เปอร์เซ็นต์ ส่วนอีก 35 เปอร์เซ็นต์ คือ นักเรียนที่ย้ายตามผู้ปกครองมาจากที่อื่น แต่มาทำกินในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงเรียน

งานเกษตรของโรงเรียน ประกอบด้วย บ่อเลี้ยงปลากินพืช (บ่อดิน) บ่อซีเมนต์เลี้ยงปลาดุก โรงเรือนเพาะเห็ด โรงเรือนไก่ไข่ แปลงผักสวนครัว แปลงผักสลัด เลี้ยงหมูป่า และไม้ผล

นักเรียนแต่ละระดับชั้นมีหน้าที่รับผิดชอบในแต่ละกิจกรรมแตกต่างกันออกไป โดยงานเกษตรเริ่มต้นที่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ระดับชั้นที่เล็กไปกว่านั้น อาจารย์บัณฑิต บอกว่า ได้หยิบจับงานเกษตรในชั่วโมงเรียนแต่ไม่ได้รับผิดชอบประจำ เพราะถือว่ายังเป็นเด็กเล็ก ความรับผิดชอบยังไม่สมบูรณ์

บ่อเลี้ยงปลากินพืช (บ่อดิน) มีขนาด 1 งาน ปล่อยปลากินพืช เช่น ปลานิล ปลาตะเพียน และปลาสวาย ของบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิหลวงพ่อคูณปริสุทโธ เป็นพันธุ์ปลาและอาหารปลา ปลาทั้งหมดถูกปล่อยลงในช่วงกลางปี และวิดบ่อเพื่อจับปลาขายให้กับชุมชนในช่วงเดือนพฤศจิกายนหรือเดือนธันวาคมของทุกปี

บ่อซีเมนต์เลี้ยงปลาดุก เป็นหน้าที่รับผิดชอบของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ต้องให้อาหาร เปลี่ยนน้ำ และสังเกตความเปลี่ยนแปลงของปลาดุกทั้งหมด 5 บ่อ แต่ละบ่อปล่อยปลาขนาดไล่เลี่ยกัน ปลาดุกเป็นการเลี้ยงโดยเน้นขายให้กับโครงการอาหารกลางวัน สัปดาห์ละครั้ง ยกเว้น เมื่อมีออเดอร์สั่งซื้อจำนวนมากก็จะจับขายตามปริมาณที่ลูกค้าต้องการ

ส่วนไก่ไข่ เริ่มต้นเลี้ยงไก่ไข่ในโรงเรือน ทั้งสิ้น 60 ตัว สามารถเก็บไข่ไก่ได้ วันละ 40-50 ฟอง แม้ว่าไข่ไก่จะสามารถเก็บได้มาก แต่ไข่ไก่ก็เป็นเมนูสำคัญในโครงการอาหารกลางวันของเด็ก สัปดาห์ละ 2-3 วัน เมื่อมีไข่ไก่เหลือจากเข้าโครงการอาหารกลางวัน ก็จะนำไปขายให้กับชุมชน

ผักสวนครัว จัดเป็นแปลงพื้นที่มากพอสมควร ปลูกผักตามฤดูกาล เช่น ผักบุ้ง กวางตุ้ง ผักกาดขาว เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผักสลัด ซึ่งจะปลูกเฉพาะฤดูหนาว และขายได้ราคาดี

ผักสวนครัวทั้งหมด จัดเป็นผักปลอดสารพิษไม้ผล มีให้เห็นทั่วบริเวณโรงเรียน ได้แก่ กล้วย มะม่วง มะขาม ส้มโอ กล้วย ลงไว้ตรงไหนก็ได้ผลดี

มะม่วง มีเกือบ 30 ต้น เป็นมะม่วงหลากสายพันธุ์ รับประทานได้ทั้งดิบและสุก แต่จำหน่ายไม่ได้ เพราะในท้องถิ่นก็มีมะม่วงปลูกไว้เกือบทุกบ้าน ใช้เป็นผลไม้ในโครงการอาหารกลางวันเท่านั้น

ส้มโอ มีมากกว่า 10 ต้น ผลผลิตดี แต่รสชาติไม่ดี ทำให้จำหน่ายไม่ได้ คาดว่าเกิดจากพื้นที่ปลูกไม่เหมาะสมกับพืช มะขาม ปลูกเป็นร่มเงา ทั่วบริเวณโรงเรียน

ทั้งหมดเป็นกิจกรรมการเกษตรที่กระจายความรับผิดชอบออกไปให้กับเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3

การทำงานของกล่องควบคุมการให้น้ำพืช ระบบน้ำหยดอัตโนมัติ

ส่วนสองหนุ่มน้อยที่ได้รับรางวัลเหรียญทอง ลำดับที่ 7 จากการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ งานศิลปหัตถกรรมนักเรียน ระดับชาติ ครั้งที้ 66 ปีการศึกษา 2559 ที่ผ่านมา คือการประดิษฐ์กล่องควบคุมการให้น้ำพืช ระบบน้ำหยดอัตโนมัติ

ปัจจุบัน กล่องนี้ถูกนำมาใช้งานจริงในแปลงเกษตรของโรงเรียน ในส่วนของแปลงผักสวนครัวและแปลงผักสลัด

อาจารย์พิจิตรา ถ้ำกลาง อาจารย์สอนวิชาวิทยาศาสตร์

ที่ปรึกษาของการประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ เล่าว่า ปลายปี 2558 พานักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาไปทัศนศึกษาที่ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ (ไร่สุวรรณ) นักเรียนเห็นเครื่องให้น้ำพืชขนาดใหญ่ภายในไร่

จึงมีแนวคิดประดิษฐ์เครื่องให้น้ำพืชขนาดเล็กบ้าง ประกอบกับจะมีการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์ ทำให้โครงงานสิ่งประดิษฐ์เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

“ครูทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ส่วนเด็กเขาคิดของเขาเอง และทำเองทุกขั้นตอน เริ่มจากเขียนโครงงาน ซื้ออุปกรณ์ ลงมือปฏิบัติต่อแผงวงจร ตั้งเวลาการให้น้ำ ทดลองตั้งแต่แรกจนสามารถนำมาใช้งานได้จริงในโรงเรียน”

พี่สอนน้อง

การทำงานของกล่องควบคุมการให้น้ำพืช ระบบน้ำหยดอัตโนมัติ ใช้ไฟขนาด 12 โวลต์ ผลิตไฟฟ้าด้วยแผงโซลาร์เซลล์ แต่ติดตั้งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยแบตเตอรี่ไว้ด้วย กรณีที่ไม่ได้ใช้งาน แผงโซลาร์เซลล์จะเก็บพลังงานส่งต่อไปยังแบตเตอรี่ จากนั้นแบตเตอรี่จะส่งต่อพลังงานไปเก็บไว้ที่กล่องก่อนนำออกมาใช้งาน ภายในกล่องจะมีแผงวงจรควบคุมการทำงานทั้งหมด

การทำงานของกล่องควบคุมการให้น้ำพืช ระบบน้ำหยดอัตโนมัติ สามารถตั้งเวลาให้น้ำได้ รวมถึงระยะเวลาการให้น้ำ แต่ทั้งนี้การให้น้ำได้มากน้อย ขึ้นอยู่กับแรงดันน้ำในพื้นที่นั้นๆ ด้วย

“แผงวรจรควบคุมเป็นตัวหลักสำคัญของการออกแบบ เพราะแผงควบคุมจะสั่งการออกมาที่วาล์ว วาล์วที่ใช้เป็นวาล์วไฟฟ้า เพื่อสั่งเปิดปิดน้ำ และตั้งเวลากรณีที่ไม่อยู่ ต้องการให้รดน้ำเช้าหรือเย็น วันเว้นวัน รดต่อครั้งนานเท่าไหร่ก็ได้ ใน 1 วัน สามารถตั้งเวลาให้ทำงานได้ถึง 8 รอบ ตรงนี้เด็กเป็นคนต่อแผงวงจรเองทั้งหมด แผงวงจรภายในถึงยุ่งเหยิง แต่ก็ทำงานได้ดี”

ต้นทุนของกล่องควบคุมการให้น้ำพืช ระบบน้ำหยดอัตโนมัติเครื่องนี้ อยู่ที่ 1,352 บาท

กล่องนี้ ติดตั้งอยู่ในแปลงเกษตรของโรงเรียน 2 จุด และเป็นตัวจุดประกายให้นักเรียนหลายคนอยากนำไปประยุกต์ใช้ในแปลงเกษตรของครอบครัว ซึ่งที่ผ่านมา อาจารย์พิจิตรา บอกว่า เคยนำไปทดลองทำในแปลงเกษตรที่บ้านของนักเรียนมาแล้ว และได้ผลดี ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อนำไปใช้สำหรับการให้น้ำสัตว์เลี้ยง เช่น การให้น้ำไก่ไข่ในโรงเรือน ซึ่งคาดว่าภายในปีการศึกษาหน้าน่าจะพัฒนาแล้วเสร็จและนำไปใช้ได้

นับว่าเป็นความโชคดีของโรงเรียนบ้านหนองซ่อมตะเคียนงาม ที่มีนักเรียนที่สนใจไขว่คว้าหาสิ่งประดิษฐ์ที่เอื้อประโยชน์ต่อการเกษตร ซึ่งเป็นพื้นฐานของชีวิตประจำวัน และนับว่าเป็นความโชคดีของนักเรียน ที่มีอาจารย์ที่ให้ความสนใจถ่ายทอดและสนับสนุนความรู้เพิ่มเติม อันเป็นบริบทที่ขาดซึ่งกันและกันไม่ได้ จึงส่งผลให้โรงเรียนได้รับการยอมรับว่า เป็นโรงเรียนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง

โรงเรียนตั้งอยู่ในที่เข้าออกง่าย อยากแวะเวียนไปเยี่ยมชม ติดต่อ อาจารย์บัณฑิต วงศ์อามาตย์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านหนองซ่อมตะเคียนงาม หมู่ที่ 5 บ้านตะเคียนงาม ตำบลโป่งตาลอง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา โทรศัพท์ (094) 518-6904 ในวันเวลาราชการ