Thursday, 28 March 2024

ชายเจ้าของแบรนด์ “ตานีแบรนด์” ไอเดีย ที่สร้างประโยชน์ จากสิ่งที่คนเห็นว่าไร้ค่า สู่กระเป๋าแฟชั่นราคาหลักหมื่น

ไม่มีอะไรที่ไร้ค่า ชายหนุ่มวัย 32 ปี อดีตนักเคมีสิ่งทอรายนี้ได้แสดงให้เห็นแล้ว เขาคือผู้พลิกชีวิตกล้วยที่ไร้ค่า ไม่นิยมปลูกในบ้านอย่างกล้วยตานี ให้กลายมาเป็นกระเป๋าถือสุดหรู สร้างมูลค่าหลักแสนบาท ถูกเลือกเป็นผลิตภัณฑ์ดีเด่นประเทศ เป็นของขวัญในการต้อนรับอาคันตุกะผู้นำต่างประเทศใน ASEAN Summit ครั้งที่ 35

ชายเจ้าของแบรนด์ “ตานีแบรนด์” คือ “กอล์ฟ-ธนกร สดใส” เล่าถึงจุดเริ่มต้นว่า คนไทยนิยมปลูกกล้วยนานาชนิดในบ้าน เว้นแต่ กล้วยตานี ที่มีความเชื่อว่าเป็นพันธุ์ไม้ไม่มงคล รวมถึงเมื่อนำกล้วยตานีมาปลูกรวมกับกล้วยอื่นๆ ต้นกล้วยทุกต้นจะมีเม็ด เกิดการกลายพันธุ์ จึงไม่นิยมปลูก แต่แท้จริงแล้วมันเป็นดั่งราชินีของกล้วยทุกชนิด สร้างรายได้และมูลค่ามหาศาล

กล้วยตานีมีความพิเศษในเรื่องความทนทาน ความเหนียว ความสวยงามของลวดลายบนกาบกล้วย มีคุณสมบัติที่จะนำมาทำกระเป๋าได้ และสามารถขายได้สูงถึง 45,000 บาทต่อใบ นอกจากนี้ยังนำมาทำเป็นบรรขุภัณฑ์อื่นๆ เป็นสีย้อมสีเพ้นท์วาด ทำงานจักรสานหัตถกรรม รวมๆ แล้วกล้วยตานีหนึ่งต้นสามารถทำเงินได้สูงถึง 100,000 บาท

คุณกอล์ฟ สืบเชื้อสายไทย-เขมร และอยู่กับกล้วยมาตั้งแต่เด็กๆ จนได้ทำทั้งงานหัตถกรรม งานช่าง ตกตะกอนเป็นกระเป๋ากาบกล้วยตานีแบรนด์ โดยตนเห็นว่าหลังจากนำกล้วยตานีไปทำสีย้อมจากน้ำยางกล้วยแล้ว กาบกล้วยเหลือทิ้งจำนวนมาก และได้กรรมวิธีหนังเทียมเสมือนหนังที่เป็นงานธรรมชาติ ทนต่อรา กันน้ำได้ ก็เริ่มผลิตกระเป๋าจากกาบกล้วยเมื่อปี 2559

ช่วงแรกๆ ไม่มีใครเข้าใจ หลายคนหาว่าบ้า แต่พอมีคอลเลคชั่นแรกออกมาเป็นกระเป๋าจากกาบกล้วยตานีแบรนด์ ทุกๆ คนก็เข้าใจและเปลี่ยนความคิด ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ใส่ใจสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นการผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าและเอกลักษณ์เฉพาะตัวอีกด้วย

กระเป๋ากาบกล้วยของแบรนด์ตานีนั้น 1 ลายจะมีเพียง 1 ใบในโลก ลวดลายธรรมชาติของแต่ละต้นจะไม่เหมือนกัน จากไอเดียที่สร้างประโยชน์จากสิ่งที่คนเห็นว่าไร้ค่า ทำให้คุณกอล์ฟสามารถพาแบรนด์ตานี ไปรับรางวัลชนะเลิศระดับประเทศ OTTOP KBO CONTEST 2019 จากกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้เป็นของขวัญต้อนรับผู้นำจากต่างประเทศในงานการประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 35

ปัจจุบัน ตานีแบรนด์มีสมาชิกกว่า 50 คน ที่ไม่ใช่แต่คนในจังหวัดเท่านั้น คนนอกพื้นที่และต่างประเทศก็เดินทางมาดูงาน หากสนใจรายละเอียดสามารถติดตามได้ที่เฟซบุ๊ก TaneeThailand เพื่อเข้ามาศึกษาเรียนรู้ นำไปปรับใช้กับประเพณีท้องถิ่นของตัวเองกันได้

เปลี่ยนจากของไร้ค่า ที่หลายๆคนมองข้ามให้กลายเป็นมูลค่าสร้างเม็ดเงินได้อย่างงาม