Saturday, 27 July 2024

 โคกหนองนาโมเดล…ไร่สลิลทิพย์ สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้

“ไร่สลิลทิพย์” ได้น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและหลักทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ ด้วยความเชื่อมั่นในแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานไว้ว่าสองสิ่งนี้จะนำพาประเทศให้อยู่รอด และมุ่งหวังที่จะให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้เกิดการเรียนรู้ สามารถน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ไปปรับใช้เพื่อให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เข้มแข็งอย่างยั่งยืน

โดยประยุกต์สู่การปฏิบัติในรูปแบบ “โคก หนอง นา โมเดล” พัฒนาหมู่บ้านให้เป็นแหล่งเรียนรู้ต้นแบบร่วมกันของชุมชน โดยให้ครัวเรือนต้นแบบเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชุมชน และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้คนอื่นต่อไป

จากการเข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์สู่ “โคกหนองนา โมเดล” ในช่วงระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา “ไร่สลิลทิพย์” ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในการบริหารจัดการพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 1 ไร่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามรูปแบบการบริหารจัดการพื้นที่โคกหนองนา โมเดล รวมทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร

‘หนุ่ย’ ประมวน กองน้อย เจ้าของ “ไร่สลิลทิพย์” และวิทยากร “ครูพาทำ” ประจำแปลงครัวเรือนต้นแบบ บ้านเสือกินวัว ตำบลมิตรภาพ อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า “ไร่สลิลทิพย์” ได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์การเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ประยุกต์สู่ โคกหนองนา โมเดล ของสำนักงานพัฒนาชุมชน อำเภอแกดำ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดมหาสารคาม

โดยพื้นที่ของเราจะเน้นการปลูกพืชผักสวนครัวรั้วกินได้ ปลูกพืชผักทุกอย่างที่กิน และกินทุกอย่างที่ปลูก สามารถพึ่งตนเองได้โดยไม่ต้องซื้อ เป็นการลดรายจากภาคครัวเรือน และยังสามารถเสร้างรายได้ให้กับครอบครัว เป็นตัวอย่างให้กับชุมชนที่เข้ามาเรียนรู้

…คำว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ในปัจจุบันยังสามารถนำมาปรับใช้ในโครงการฯ ได้ เพราะพื้นที่โครงการโคกหนองนา โมเดล ประกอบไปด้วย “หนอง” ที่สามารถใช้เลี้ยงปู ปลา หอย เป็นอาหารให้เราบริโภค “นา” ก็สามารถทำนาปลูกข้าวให้เราได้กิน เหลือกินให้แบ่งปัน เหลือแบ่งปันให้เก็บรักษา เหลือเก็บเราค่อยขาย ตามหลักปรัชญาบันได 9 สู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนและมั่นคง

ซึ่งเห็นเป็นรูปธรรมสามารถจับต้องได้จริง ดังคำว่า “เงินทองเป็นของมายา ข้าวปลาสิของจริง” หากเรากลับมานั่งคิดดูในช่วง C V จะเห็นว่าไม่มีอะไรที่มั่นคงและยั่งยืนกว่าการยึดหลักความพอเพียง เดินทางสายกลาง ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามคำที่พ่อสอนไว้

สำหรับพื้นที่โครงการฯ ไร่สลิลทิพย์ ได้ดำเนินการตามหลักกสิกรรมธรรมชาติ โดยการน้อมนำศาสตร์พระราชาเข้ามาใช้ ซึ่งแบ่งเป็นพื้นที่ “โคก” นำดินที่ได้จากการขุดหนองมาทำโคก ทำที่กักเก็บน้ำ และสามารถสร้างคุณประโยชน์ให้แก่พื้นที่ ได้แก่ 1.ปลูกที่อยู่อาศัย 2.การปลูกพืชผักสวนครัว สร้างคันนาทองคำ เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ 3.ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ได้แก่ ป่าไม้ใช้สอย ป่าไม้เศรษฐกิจ และป่าไม้กินได้ (ประโยชน์ 4 อย่าง ได้แก่ พอใช้ พออยู่ พอกิน พอร่มเย็น)

ซึ่งจะสอดคล้องกับการปลูกไม้ 5 ระดับ เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำใต้ดิน สร้างความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับชุมชน แบ่งออกเป็น 1.ไม้สูง ได้แก่ ตะเคียน สัก ยางนา ซึ่งสามารถเป็นไม้บำนาญให้กับลูกหลาน 2.ไม้กลาง ได้แก่ มะพร้าว มะม่วง ขนุน กล้วย 3. ไม้เตี้ย ได้แก่ มะเขือ พริก มะนาว 4.ไม้เรื้อย ได้แก่ แตงโม ฝักทอง มะเขือเทศ ผัก และ5.ไม้กินหัว ได้แก่ เผือก หัวหอม มัน ขิง ข่า ตะไคร้ เป็นต้น โดยพื้นที่ของเราได้ทำการปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ เหลือแบ่งปันให้กับญาติพี่น้อง และจำหน่ายให้กับชุมชน เพื่อสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนต่อไป

“จากครัวเรือนต้นแบบ โคกหนองนา โมเดล “ไร่สลิลทิพย์” ได้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงประจำอำเภอ เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับชุมชนในพื้นที่และใกล้เคียงที่สนใจเข้ามาเรียนรู้ และเป็นศูนย์ฝึกอบรมโครงการหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงระดับแกนนำชุมชน ครัวเรือนต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการ จัดอบรมไปแล้ว 1 รุ่น จำนวน 19 ราย จำนวน 5 วัน และเป็นการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ไม่รู้จบให้กับครัวเรือนต้นแบบให้แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันตลอดไป”

ปัจจุบัน “ไร่สลิลทิพย์” สามารถพลิกวิก ฤติเป็นโอกาส…สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร สร้างแหล่งเรียนรู้ชุมชนได้เต็มรูปแบบ โดยมีฐานเรียนรู้ที่หลากหลายทั้งการลดต้นทุนการผลิต การเพิ่มช่องทางการตลาด การสร้างอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ อาทิเช่น ฐานการตอนกิ่งพันธุ์ไว้ปลูกและจำหน่าย ฐานการทำน้ำหมักรสจืด-รสเปรี้ยว การทำคอนโดเห็ดขอนบริโภคและจำหน่าย ฐานการทำแซนวิสปลา-การเลี้ยงแหนแดง เพื่อลดต้นทุนการผลิต

ฐานการผ่าท้องช้างเพื่อลดขยะเปียก ฐานการเรียนรู้การทำแปลงผักถาวร ฐานการเรียนรู้จุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ฐานการเรียนรู้ปุ๋ยหมักแห้ง-อีเอ็มบอล ฐานคนรักษ์น้ำ ฐานเรียนคนรักษ์แม่โพสพ และฐานคนรักษ์ดิน (ห่มดิน) อย่าปลอกเปลือยดิน ให้ห่มดิน เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันได้การตอบรับจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้าศึกษาดูงานอย่างต่อเนื่องและ เป็นการสร้างสัมพันธภาพ สร้างเครือข่ายการเรียนรู้ในชุมชนได้อย่างไม่รู้จบต่อไป

สนใจศึกษาดูงาน “ไร่สลิลทิพย์” สามารถติดต่อได้ที่ 85 หมู่ 3 บ้านเสือกินวัว ตำบลมิตรภาพ อำเภอแกดำ จังหวัดมหาสารคาม 44190 โทร.08-6218-2199

ขอบคุณแหล่งข้อมูลอ้างอิงmgronline.com
เรียบเรียงโดย ธรรมเกษตรก้าวหน้า