Saturday, 27 July 2024

“เพาะจิ้งหรีด” ขายชิวๆไม่จริงจัง ปัจจุบันกลับทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ เดือนละ 2 – 5 หมื่นบาทต่อเดือน

ในช่วง 4-5 ปี หลัง วงการแมลงบ้านเราเติบโตอย่างเห็นได้ชัด เพราะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยเหตุนี้เองจึงมีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยหันมาเลี้ยงกันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะ จิ้งหรีด ซึ่งเลี้ยงง่ายและได้ราคาดี มีเงินลงทุนหลักร้อยหลักพันก็สามารถเริ่มต้นเลี้ยงกันได้แล้ว

แรกเริ่มเดิมที่อาชีพของ โอ-กิตติศักดิ์ คือรับเหมาก่อสร้าง และรับจ้างทั่วไป แต่รายได้ไม่แน่นอน เขาจึงเปลี่ยนอาชีพมาเป็นชาวนา แต่ทว่า…กลับเจอปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง ขาดทุนย่อยยับเกือบสิ้นเนื้อประดาตัว แต่โชคยังดีที่ได้เพื่อนบ้านในหมู่บ้านแนะนำอาชีพ “ เ ลี้ ย งจิ้ ง ห รี ด ” จึงได้เริ่มทดลองเลี้ยงดูบ้าง

ตอนแรกแค่ “เพาะจิ้งหรีด” ขายชิวๆไม่จริงจัง ปัจจุบันกลับทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ บางรายถึงกกับทิ้งงานประจำมายึดอาชีพ เพาะจิ้งหรีดขาย แบบถาวรก็มี อย่างเช่น กิตติศักดิ์ มาพลับ หรือ โอ หนุ่มขอนแก่นผู้นี้

แค่เดือนแรกก็สามารถสร้างรายได้ถึงเกือบ 20,000 บาท เพียงทดลอง“เลี้ยงจิ้งหรีด” ในบ่อปูนซีเมนต์ไม่กี่บ่อ โอ-กิตติศักดิ์จึงลงทุนทำโรงเรือน และก่อบ่อถาวรจำนวน 19 บ่อ ขนาดบ่อละ 2×3 เมตร

วิธีการเก็บจิ้งหรีดขาย ก่อนนำออกขาย 1 วันต้องนำจิ้งหรีดที่โตเต็มที่มาแยกใส่บ่อตาข่ายไว้ต่างหาก โดยในบ่อตาข่ายจะมีแผงไข่วางไว้เป็นชั้นๆคล้ายคอนโด และมีขันพลาสติกใส่ขี้เถ้าไว้ให้จิ้งหรีดตัวเมียฝังไข่ลงในขี้เถ้า นอกจากนั้นก็จะวางฝักทองไว้ให้จิ้งหรีดกินเพื่อล้างท้อง เมื่อแยกไว้ 1 คืนแล้วก็จะแยกเอาขี้เถ้าซึ่งจะมีไข่จิ้งหรีดอยู่เป็นจำนวนมากไปเป็นจิ้งหรีดชุดต่อไป

การเลี้ยงจิ้งหรีดในแต่ละชุดใช้เวลา 30-45 วันก็สามารถเก็บออกขายได้สร้างรรายได้ถึง 40,000 – 50,000 บาทต่อเดือนกันเลยทีเดียว

กิตติศักดิ์ จะเน้นเพาะเอง ขายเอง โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ในราคากิโลกรัมละ 170 บาท หากขายเป็นขีดจะอยู่ที่ขีดละ 20 บาท 3 ขีด 50 บาท ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพที่ทำรายได้มากกว่าทำอาชีพอื่นๆที่ทำมา

สำหรับอาหารเลี้ยงจิ้งหรีด จะให้อาหารไก่เล็กผสมกับหยวกกล้วย ใส่น้ำลงไปเล็กน้อย เท่านี้ก็เป็นอาหารชั้นดี ทำให้จิ้งหรีดโตเร็วและลดต้นทุน เพียง 30 วัน ก็สามารถจับขายได้แล้ว นอกจากนี้ยังสามารถเพาะพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ขายสร้างรายได้อีกทางหนึ่งด้วย

วิธีการเลี้ยงแสนง่าย อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
1. ท่อปูนซีเมนต์ขนาดกว้างไม่เกิน 1.20 เมตร สูงประมาณ 1 เมตร
2. ถาดดินสำหรับให้จิ้งหรีดวางไข่ 1 ถาด
3. แฝงไข่กระดาษบ่อละ 2-3 อัน
4. ขวดพลาสติก + ผ้าด้ายดิบ
5. แกลบดิบ (ถ้าให้ดีต้องเป็นแกลบข้าวปลอดสารพิษ)
6. ตาข่ายพลาสติก + ยางรัดขอบบ่อ
7. สก็อตเทปใสหรือสก็อตเทปทึบ

วิธีการเลี้ยง
1. นำท่อปูนซีเมนต์ที่เตรียมไว้ มาวางไว้ในบริเวณที่มีที่กันแดดกันฝนอย่างมิดชิดและแห้งสนิท ตัดท่อนกล้วยลงไปแช่ทิ้งไว้ในบ่อเพื่อเป็นการฆ่าเชื้อ 7 วัน จากนั้นนำแกลบดิบโรยให้ทั่วก้นบ่อให้มีความหนาประมาณ 1 นิ้ว ตัดสก็อตเทปใสหรือสก็อตเทปทึบแบบที่กว้างประมาณ 4-5 เซนติเมตร ติดให้ทั่วปากบ่อด้านใน เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้จิ้งหรีดไต่ออกนอกบ่อเลี้ยง

2. นำขวดพลาสติกใส่น้ำวางในแนวนอน โดยเจาะรูตรงกลางขนาดกว้าง 1-3 เซนติเมตร แล้วยัดผ้าด้ายดิบอัดให้แน่น แล้วเหมือนไส้ตะเกียงแล้วให้น้ำซึมออกมาตามผ้า วางไว้ให้จิ้งหรีดมาดูดกินน้ำ เป็นการป้องกันไม่ให้จิ้งหรีดจมน้ำตายเหมือนใส่น้ำในภาชนะแบบอื่นๆ 1 อันต่อ 1 บ่อเลี้ยง หากจิ้งหรีดเพิ่มปริมาณขึ้นก็ควรเพิ่มขวดน้ำด้วยตามความเหมาะสม

3. นำแฝงไข่กระดาษใส่ลงไปในบ่อเลี้ยงประมาณบ่อละ 2-3 อัน เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของจิ้งหรีด พร้อมถาดอาหาร 1 ถาด (รำอ่อน+อาหารไก่เล็ก ผสมกัน สำหรับเป็นอาหารจิ้งหรีด)หลังจากเตรียมวัสดุอุปกรณ์ทุกอย่างลงไว้ในบ่อเลี้ยงแล้ว ทำการคัดพ่อแม่พันธุ์จิ้งหรีดที่มีอายุประมาณ 40-45 วัน ลงเลี้ยงในบ่อในอัตรา 1:3 คือ พ่อพันธุ์ 1 ตัว แม่พันธุ์ 3 ตัว(เรียกว่า 1 ชุด) ถ้าทำในลักษณะนี้ลูกจิ้งหรีดที่ได้ในบ่อเดียวกันจะมีหลายรุ่น แต่ถ้าอยากได้จิ้งหรีดรุ่นเดียวกันทั้งบ่อต้องใช้พ่อแม่พันธุ์ 140 ตัว (แม่พันธุ์ 100 ตัว พ่อพันธุ์ 40 ตัว) ทำการเพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์เพื่อเอาไข่ประมาณ 5 วัน แล้วจึงยกถาดไข่ไปเลี้ยงในบ่ออื่นที่เตรียมอุปกรณ์ไว้พร้อมแล้วเช่นเดียวกันดูแลเลี้ยงถาดไข่ประมาณ 7-15 วัน จิ้งหรีดจะฟักออกเป็นตัว เริ่มวางอาหารเป็นหัวอาหารไก่และรำอ่อน ไว้ตามจุดในบ่อเลี้ยง และควรเสริมด้วยนมผงอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง จนจิ้งหรีดอายุ 30 วันก็หยุดเสริมนมผง เหลือแต่หัวอาหารไก่และรำอ่อนเท่านั้น

4. การให้น้ำและการให้อาหารนั้น ให้ดูน้ำในขวดถ้าแห้งมากก็เติมใหม่ประมาณ 1-2 สัปดาห์ต่อครั้ง ส่วนการเปลี่ยนน้ำนั้นให้ดูเวลาที่จิ้งหรีดดูดกินน้ำถ้าเหนียวมากก็ล้างทำความสะอาด แต่ส่วนมากแทบจะไม่ได้ล้างทำความสะอาดเลยเพราะความสกปรกแทบจะไม่มี ส่วนอาหารให้ดูบ่อยๆเพราะจิ้งหรีดยิ่งโตยิ่งกินจุ แต่เมื่อเป็นตัวเต็มวัยความต้องการอาหารจะลดลง จิ้งหรีดอายุ 40-50 วัน ก็พร้อมที่จะจับมาบริโภคหรือจำหน่ายต่อไป

5. บ่อเลี้ยงทุกบ่อจำเป็นต้องใช้ตาข่ายเขียว คลุมปิดปากบ่อไว้แล้วรัดด้วยยางหรือเชือกให้แน่นเพื่อป้องกันไม่ให้จิ้งหรีดไต่หรือบินออกจากบ่อ และเป็นการป้องกันจิ้งจกหรือจิ้งเหลนไม่ให้เข้าไปกินจิ้งหรีดได้

ต้นทุนในการเลี้ยงจิ้งหรีด 1 บ่อ (ไม่รวมค่าอุปกรณ์)-ค่าหัวอาหารไก่ 3 กิโลกรัมๆละ 12 บาท เท่ากับ 36 บาท
-ค่ารำอ่อน 3 กิโลกรัมๆละ 7 บาท เท่ากับ 21 บาท
-ค่าพันธุ์จิ้งหรีด 1 ชุด (พ่อพันธุ์ 1 ตัว + แม่พันธุ์ 3 ตัว) เท่ากับ 10 บาท** รวมต้นทุนเท่ากับ 67 บาท **

ผลตอบแทนจิ้งหรีดต่อ 1 บ่อ
ครบ 45 วัน จิ้งหรีด 1 บ่อ จะได้จิ้งหรีดประมาณ 2-3 กิโลกรัม สามารถจำหน่ายได้กิโลกรัมละ 150-200 บาท

เรียบเรียงโดย เกษตรก้าวหน้า