Saturday, 27 July 2024

เทคนิคติดหลอดไฟ! มะยงชิด-มะปรางหวาน สูตรเร่งออกดอก ออกผล ติดเกือบทุกกิ่ง

ชื่นมื่นกันทุกฝ่ายสำหรับงานมะยงชิด-มะปรางหวาน ของดีนครนายก ซึ่งจัดขึ้นเมื่อกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำเอาบรรดาชาวสวนปลื้มกันยกใหญ่ เพราะขายดี ไม่ว่าจะเป็นผลหรือกิ่งพันธุ์ ขณะที่ปีนี้ผลผลิตก็ออกมาเยอะกว่าปีก่อน อีกทั้งได้ขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์แล้ว ยิ่งทำให้ภาพลักษณ์ของมะปรางหวาน มะยงชิด นครนายกดีเพิ่มขึ้นไปอีก นอกเหนือจากจุดเด่นในเรื่องรสชาติหวานและขนาดใหญ่ของผล

พร้อมกันนั้นยังมีเรื่องน่าดีใจอีกอย่าง เพราะได้มีการค้นพบวิธีการที่จะทำให้เจ้าผลไม้ลูกสีเหลืองทองนี้ออกดอกออกช่อติดผลเยอะๆ ด้วยเรื่องนี้ ร.ต.ต. อำนวย หงษ์ทอง หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ดาบนวย” นายกสมาคมชาวสวนมะปรางจังหวัดนครนายก จะเป็นผู้เฉลยให้ฟัง ซึ่งตำรวจวัยเกษียณ อายุ 63 ปี รายนี้ ได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องมะปรางมะยงชิดขั้นเทพทีเดียว เพราะปลูกมานานกว่า 30 ปีแล้ว โดยเป็นเจ้าของ “สวนนพรัตน์” ตั้งอยู่ที่ บ้านเลขที่ 99 หมู่ที่ 10 ชุมชนบ้านดงละคร ตำบลดงละคร อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก เกือบ 50 ไร่ รวมกับอีกแปลงที่อยู่ตำบลสาลิกา อำเภอเมือง ถือเป็นเกษตรกรยุคแรกๆ ที่เริ่มปลูกมะปรางในจังหวัดนครนายก ซึ่งมีไม่กี่ราย

เทคนิคติดหลอดไฟพบโดยบังเอิญ
ดาบนวย เล่าว่า ปีนี้มะปรางและมะยงชิดจะยังคงมีขายไปจนถึงเดือนเมษายน เพราะช่วงปลายมีนาคมบางสวนลูกยังเขียวอยู่ อย่างที่สวนนพรัตน์คาดว่าจะมีผลผลิตขายได้ถึง 10 ตัน แต่เป็นช่วงปลายฤดู ไม่แน่ใจว่าขนาดลูกจะใหญ่เท่าชุดแรกหรือไม่ สาเหตุที่ทำให้มะปรางติดลูกดกปีนี้เพราะได้เรียนรู้เทคนิคบางอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องบังเอิญ

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว หลอดไฟ ขนาด 40 วัตต์ ที่ติดไว้แถวโต๊ะม้าหินอ่อน เปิดตั้งแต่ 6 โมงเย็น จนถึงเช้า มีแสงสว่างไปถูกกิ่งพันธุ์ต้นมะปรางที่ตั้งทิ้งไว้ 10 กว่าต้น ทำให้ออกช่อ 1-2 กิ่ง ทั้งๆ ที่ช่อดอกจะออกตอนช่วงหน้าหนาว แต่ตอนนั้นเป็นหน้าฝน ปกติถ้าไม่หนาวมะปรางจะไม่ออกช่อ อุณหภูมิจะต้องต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส ประมาณ 3-4 วัน จากนั้นอุณหภูมิจะขยับขึ้นมา 22-24 องศา หลังจากหนาวแล้วก็มาอุ่น มะปรางถึงจะแทงช่อ

อีกเหตุการณ์หนึ่งคือ ช่วงปลายปี 2559 ลูกน้อง แขวนกิ่งต้นมะปรางไว้ที่แผงขายของ ตั้งแต่ 6 โมงเย็น ถึง 3 ทุ่ม และช่วง ตี 4-6 โมงเช้า พอถึงหน้าฝน ยังไม่เข้าสู่ฤดูหนาว ปรากฏว่ามะปรางออกช่อเดียวอยู่ต้นเดียว และออกเฉพาะกิ่งที่ถูกแสงไฟ ทำให้รู้ว่า การออกช่อแบบนี้ผิดธรรมชาติ จากนั้น ดาบนวย จึงเริ่มทดลองครั้งแรก จำนวน 20 ต้น โดยใส่ไฟตรงกลางต้นใหญ่ แต่ออกช่อไม่เยอะ มีอยู่ 8-9 ต้น ที่ออกช่อเต็มต้น และเริ่มทำอีกประมาณ 40 ต้น แต่ละต้นห่างกัน 8×8 เมตร โดยสลับแถวกัน ใช้เปิดไฟในบางแถว บางแถวไม่ใช้ไฟ ปรากฏว่าในส่วนมะปรางที่ใช้แสงไฟจะออกช่อทุกต้น ในขณะที่แถวมะปรางที่ไม่ใช้ไฟไม่ออกช่อ ด้วยเหตุนี้จึงมั่นใจว่า วิธีการใช้แสงไฟได้ผล ต่อมาทำอีกรุ่น ห่างกันประมาณไม่เกิน 7 วัน ใช้จำนวนหลอดไฟ 40 หลอด ในจำนวนมะปราง 20 ต้น ใช้ต้นละ 2 หลอด เพื่อให้แสงไฟส่องสว่างอย่างทั่วถึง และติดนานเป็นเดือน ส่งผลให้ออกช่อติดดีมาก ติดเกือบจะทุกกิ่ง

วิธีติดดวงไฟ เพื่อให้มะปรางออกช่อดอก เป็นการค้นพบโดยบังเอิญ และผมก็ได้ลองผิดลองถูก ทดลองอีก 3-4 รุ่น อย่างล่าสุด ทำเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ติดช่อแล้ว แต่ดูแล้วไม่น่าจะดี เพราะอากาศร้อนมาก ทำได้ 10 กว่าต้นที่ออกช่อ จากการสังเกต ปกติช่อดอกช่อหนึ่งจะออกลูก 2-3 ลูก แต่พอใส่ไฟ ทำให้ออกลูกติดผลเป็น 10 ลูกเยอะมากเกิน 3 เท่า ของการออกลูกปกติ ตอนแรกคิดว่าไม่น่าอยู่รอด แต่แม้จะร่วงก็ยังเยอะอยู่ ร่วงประมาณครึ่งหนึ่ง ได้ผลดกมาก กิ่งย้อยลงมา

สำหรับรสชาตินั้น ดาบนวย ระบุว่า เท่าที่ชิมใช้ได้ และผิวสะอาดใส โรคหนอนและแมลงแทบจะไม่ค่อยมีปกติมะปรางมะยงชิด จะออกช่อหน้าหนาว พอแทงช่อแล้ว นับไปอีก 75 วัน จะเก็บผลได้ บวกลบไม่เกิน 5 วัน ถ้าหน้าหนาวจะเป็น 80 วัน หากอากาศร้อนลดลงไปเหลือ 70 วัน เพราะหน้าร้อนลูกจะสุกเร็ว ส่วนหน้าหนาวลูกจะสุกช้า

ทำนอกฤดูเหมือนมะม่วงไม่ได้
ดาบนวย เล่าว่า ช่วงหลายปีมานี้ ทั้งมะปรางและมะยงชิดที่นครนายกไม่ค่อยติดลูก จึงได้ไปปรึกษาขอความช่วยเหลือจากอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) แต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากอากาศแปรปรวน นอกจากนี้ ยังเคยทดลองเพื่อให้ออกนอกฤดูแบบมะม่วงแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้เดิมนั้นสวนของดาบนวยปลูกมะปราง 30% ปลูกมะยงชิด 70% รวมพันกว่าต้น ต่อมาเจอปัญหาไม่ค่อยออกลูกเลยโค่นมะยงชิดปลูกมะปรางแทน เพื่อให้ได้ 50% เท่ากัน โดยปลูกมะปรางพันธุ์ทองนพรัตน์และมะยงชิดพันธุ์ทูลเกล้า

นายกสมาคมชาวสวนมะปรางฯ บอกว่า ได้แนะนำให้สมาชิกของสมาคมใช้หลอดไฟติดตรงต้นมะปรางเพื่อให้ออกลูกดก หลายรายทดลองไปทำก็ได้ผลเช่นเดียวกัน ซึ่งเทคนิคนี้เป็นประโยชน์มากในการจัดงาน งานมะยงชิด-มะปรางหวาน ของจังหวัดนครนายก ในปีต่อๆ ไป เพราะสามารถกำหนดการจัดงานล่วงหน้าได้เป็นปี ตนเองมั่นใจว่า 90% ใช้ได้ผล นอกนั้นขึ้นอยู่กับภูมิอากาศอย่างเช่น กำหนดจัดงาน ช่วง วันที่ 10 มีนาคม ก็ให้นับย้อนหลังไป ประมาณ 80 วัน แล้วเปิดไฟพร้อมกัน เพื่อให้ได้ผลผลิตในช่วงเดียวกัน

มะปราง
ดาบนวย แนะนำว่า ควรจะทำเป็นรุ่นๆ เพื่อให้ดูแลได้ง่าย และมีผลผลิตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปกติเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ฝนหมดแล้ว ก็ให้เริ่มติดหลอดไฟรุ่นแรก 100 ต้น ห่างอีก 1 เดือน ก็ทำอีก 100 ต้น โดยให้ติดประมาณ 25-30 วัน เน้นให้ทุกกิ่งได้รับแสงไฟอย่างทั่วถึง บางต้นอาจจะต้องติดมากกว่า 1 หลอด ซึ่งแม้จะต้องจ่ายค่าไฟเพิ่มขึ้น แต่หากคำนวณกับจำนวนมะปรางที่ติดลูกและขายได้แล้ว ถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะเสียค่าไฟหลักหลายพันบาท ขณะที่จะขายมะปรางมะยงชิดได้หลักหลายแสนบาท

สำหรับนครนายกนั้น ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งใหญ่ในการปลูกมะปราง-มะยงชิดหวาน ที่มีคุณภาพ โดยมีพื้นที่ปลูก 8,000 ไร่ แต่ละปีมีผลผลิตประมาณ 1,500-2,000 ตัน มูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท ในส่วนขนาดลูกใหญ่สุด (เท่าไข่ไก่ เบอร์ 0) ไม่เกิน 13 ลูก ต่อกิโลกรัม ขายได้ในราคา กิโลกรัมละ 250-300 บาท บางปีขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 400-450 บาท ในปีที่มีปัญหาแล้งจัด ส่วนเบอร์รองลงมาประมาณ 10 ลูก ขายกิโลกรัมละ 200 บาท นอกจากนั้นราคากิโลกรัมละ 100-150 บาท ส่วนกิ่งพันธุ์ทั้งมะปรางและมะยงชิด ราคากิ่งละ 200-300 บาท ความสูงประมาณเมตรเศษๆ เตือน 7-10 วัน อันตราย ช่วงแทงช่อ ทั้งนี้ มะปรางพันธุ์ทองนพรัตน์ เป็นพันธุ์ที่เกษตรกรที่นครนายกนิยมปลูกกัน เพราะมะปรางหวานพันธุ์นี้มีจุดเด่น คือ ออกลูกง่าย ใช้เวลาปลูกเพียง 2 ปีเท่านั้น มีรสชาติหวาน และมีผลใหญ่เท่ากับมะยงชิด น้ำหนักเฉลี่ย ประมาณ 10-12 ลูก ต่อกิโลกรัม ทั้งยังมีความต้านทานโรคและแมลงได้ดี ขณะที่มะปรางพันธุ์ทั่วไปจะออกลูกช่วง 3-5 ปี

ดาบนวย แจกแจงว่า แม้จะติดหลอดไฟที่ต้นมะปรางเพื่อให้ออกช่อและออกลูกดกนั้น แต่ในการดูแลรักษาก็ต้องใส่ใจเหมือนเดิม ซึ่งมะปรางและมะยงชิดนับเป็นผลไม้ที่สร้างรายได้ดีและไม่ต้องดูแลมากเหมือนผลไม้อื่นๆ กรณีผู้ซื้อกิ่งพันธุ์ที่ทาบกิ่งไปปลูก ปกติจะออกช่อประมาณ 3 ปี เขาแนะนำว่า ควรขุดหลุมประมาณ 50 เซนติเมตร ก็พอ จากนั้นใช้ดินผสมกับขี้วัวและแกลบฝังกลบหลุม ถัดมาอีก 3 เดือน ให้ปุ๋ยอีกรอบ หรือถ้าจะใช้ปุ๋ยเคมี ใช้สูตร 15-15-15 หรือ 16-16-16 ก็ได้ ซึ่งไม่ควรให้ปุ๋ยมากเกินไป เพราะจะทำให้ต้นเฉาตาย และถ้าแดดร้อนเกินไปจะทำให้ใบแห้งไหม้ ในเรื่องการรดน้ำนั้น ดาบนวย กล่าวว่า หากให้น้ำมากเกินไปจะแฉะ แต่ช่วงปีแรกในการปลูก ต้องให้ดินชุ่มชื้นอยู่เสมอ ต้องดูดินอย่าให้แห้ง พอผ่านไปถึงปี 2 ปี 3 ถึง 7 วัน ก็ให้น้ำสักครั้ง แต่ช่วงปลูกใหม่ๆ ต้องคอยหมั่นดูแล โดยเฉพาะช่วงแตกใบอ่อน ซึ่งอาจจะแตกได้ทั้งหน้าฝนและหน้าแล้ง อาจจะเจอแมลงหรือหนอนมากินใบอ่อน ทำให้ใบโกร๋นและเติบโตช้า

นอกจากนี้ ตอนมะปรางออกช่อ อาจจะเจอปัญหาเพลี้ยไฟหรือหนอนลงมาทำลายช่อ ส่งผลให้ไม่ติดลูก ดังนั้น ต้องหมั่นดูแลช่อ ซึ่งช่วง 7-10 วัน ถือเป็นอันตราย ต้องสังเกตอย่างละเอียด หากเกิดปัญหาที่ว่าต้องใช้สารเคมีเข้าช่วย จะใช้พวกสารชีวภาพไม่ได้ผล อย่างไรก็ดี สามารถปรึกษาร้านขายปุ๋ยเคมีได้เลย เพราะใช้สารเคมีประเภทเดียวกับมะม่วง อย่างไรก็ตาม การใช้สารเคมีกำจัดต้องใช้อย่างมีเหตุผล และรู้ระยะเวลาปลอดภัย

ส่วนเรื่องที่มีเกษตรกรและผู้คนทั่วไป ซื้อกิ่งพันธุ์ มะปราง-มะยงชิด จากนครนายก แล้วไปปลูกตามพื้นที่ต่างๆ นั้น ดาบนวย บอกว่า อย่างไรเสียรสชาติและคุณภาพก็คงไม่อร่อยเหมือนปลูกที่นครนายกแน่นอน เพราะอากาศและดินแตกต่างกัน เนื่องจากตำบลดงละคร มีระดับน้ำใต้ดินต่ำกว่า 10 เมตร นั่นเอง สนใจไปชมสวนนพรัตน์ของ ดาบนวย (ร.ต.ต. อำนวย หงษ์ทอง) หรือซื้อกิ่งพันธุ์ มะยงชิด-มะปรางหวาน ติดต่อได้ที่ โทร. (081) 762-4082 หรือ (093) 113-2694