Saturday, 27 July 2024

เทคนิคการเลี้ยงหมูหลุม ทางเลือกวิถีชาวบ้าน ต้นทุนต่ำ รายได้สูง

หมูหลุม เป็นภาษาชาวบ้านที่เลี้ยงหมูแบบขุดหลุมลึก โดยใช้วัสดุรองพื้น ดั้งเดิมมาจากประเทศเกาหลีและญี่ปุ่น มีแนวคิดตามหลักการของ “เกษตรกรรมธรรมชาติ” ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นการเกษตรที่ไม่เพียงแต่คำนึงถึงผลผลิตจาการเกษตรเท่านั้น แต่มีปรัชญาและแนวคิดอยู่เบื้องหลัง เป็นการพัฒนารูปแบบการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความเป็นองค์รวมของระบบนิเวศน์เกษตรในฟาร์ม วงจรชีวภาพห่วงโซ่อาหาร ดิน พืช สัตว์ จุลินทรีย์ พลังธรรมชาติหมุนเวียนจากพลังงานแสงแดด น้ำและดิน นำมาปลูกพืช เลี้ยงสัตว์กินพืช นำปุ๋ยมูลสัตว์มาเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน รวมถึงด้านเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่น และการพึ่งพาตนเองในด้านการผลิตและการบริโภคขนาดเล็กและขนาดกลางที่เหมาะสมกับทรัพยากร ภูมิปัญญาในท้องถิ่น และวัฒนธรรมที่มีในชุมชน โดยมีเป้าหมายเชิงนโยบายที่การพัฒนาชนบท การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน การอยู่ดีกินดีของคนชนบท และสุขภาพของประชากร นำไปสูการแก้ไขปัญหาความยากจนในที่สุด

ทฤษฎีเกษตรธรรมชาติ
การเลี้ยงหมูหลุม เป็นการผลิตเนื้อหมูสำหรับคนบริโภคในท้องถิ่น เน้นเทคนิคด้วยการจัดการคอกไม้ไม่ให้มีน้ำเสียจากฟาร์ม มูลสัตว์สามารถกำจัดในคอก โดยการทำงานของจุลินทรีย์ท้องถิ่น ของเสียเหล่านั้นถูกนำกลับเป็นปัจจัยการผลิตในการปลูกพืช ทั้งที่เป็นพืชที่ปลูกเป็นรายได้และพืชที่เป็นอาหารสัตว์ เช่น ข้าว ผัก ผลไม้ เป็นการหมุนเวียนใช้พลังงานธรรมชาติด้วยเทคโนโลยีที่พึ่งพาตนเองในชุมชน

อย่างไรก็ตามการศึกษาการใช้สารธรรมชาติทั้งสมุนไพร สารสกัดจากพืช และสารสกัดชีวภาพในการเลี้ยงสัตว์ที่มีผลต่อการเจริญเติบโต การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือการฆ่าและทำลายเชื้อยังให้ผลที่ไม่คงที่ ซึ่งมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ ขึ้นอยู่กับสภาพการจัดการฟาร์ม ความสะอาดคอก โรงเรือนการถ่ายเทอากาศ การสัมผัสเชื้อโรค ฉะนั้นจึงทำให้ผลการศึกษาที่ได้มีความผันแปรมาก จำเป็นต้องใช้กระบวนการวิจัยสหสาขาวิชาการที่บูรณาการอย่างเป็นระบบ เพื่อต่อภูมิปัญญาท้องถิ่น นำมาเป็นวัตกรรมในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติทดแทนการใช้สารเคมีสังเคราะห์ในการเลี้ยงสัตว์

เทคนิคการเลี้ยงหมูหลุม
เทคนิคการเลี้ยงสุกรโดยวิธีธรรมชาติ ประเทศเกาหลี(อ้างโดย ดร.อานัติ ตันโช 2547 จากหนังสือ เกษตรกรรมธรรมชาติ)สถาบันเกษตรกรรมธรรมชาติประเทศเกาหลี ได้แนะนำให้เกษตรกรเลี้ยงแม่สุกรครั้งละ 30 แม่ เพื่อผลิตลูก 600 ตัว/ปี การจัดการฟาร์มแบบธรรมชาติทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 40 % แม่บ้าน 1 คน สามารถเลี้ยงลูกสุกรได้ 30 ตัว โดยใช้อาหารที่ทำเอง60-70 % เป็นการผสมผสานการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มเดียวกัน ใช้สิ่งเหลือใช้จากการเกษตรให้เกิดประโยชน์มากที่สุด คอกสุกรจากระบบนี้ ไม่ต้องทำความสะอาดและล้างออกไป เป็นระบบการจัดการหมุนเวียนที่เกิดขึ้นในฟาร์มอย่างสมบูรณ์ มูลสุกรจะถูกเปลี่ยนกลับมาเป็นอาหารชั้นดีของสุกร และปุ๋ยชั้นเยี่ยมจากกระบวนการหมักของจุลินทรีย์

ขั้นตอนและวิธีการเลี้ยง
1.การสร้างโรงเรือน
เลือกพื้นที่น้ำไม่ท่วมขัง อากาศถ่ายเทสะดวก ปลูกสร้างด้วยวัสดุในท้องถิ่น โครงไม้ไผ่ หลังคาหญ้าคา ขนาด กว้างXยาวXสูง =4X5X1.8 เมตร เลี้ยงคอกละ 20 ตัว หลังคาควรมีแสงรอดผ่าน หรือมีพื้นที่รองรับแสงแดดได้ 1 /3 ของพื้นที่คอกตลอดทั้งวัน จะทำให้มีการฆ่าเชื้อด้วยแสงอาทิตย์ทุกวัน

2.การเตรียมพื้นคอก
2.1 ขุดหลุมลึก 90 ซม. ความกว้างยาวขึ้นอยู่กับจำนวนหมูที่เลี้ยง โดยมีพื้นที่ต่อตัว 1-1.5 เมตรต่อตัว
2.2 ก่ออิฐให้รอบทั้ง 4 ด้าน และให้สูงกว่าปากหลุมประมาณ 30 ซม. ไม่ต้องเทพื้น
2.3 วัสดุเตรียมพื้นคอก โดยจัดทำเป็น 3 ชั้น ๆ ละ30 ซม. โดยใช้วัตถุดาดังนี้
แกลบดิบ 4,300 กิโลกรัม
มูลโคหรือกระบือ 320 กิโลกรัม
รำอ่อน 185 กิโลกรัม
น้ำหมักจุลินทรีย์จากพืชสีเขียว 1 ลิตร ซึ่งจะได้แบคทีเรีย กลุ่มแลคติค

วิธีทำพื้นคอก
1.ใส่แกลบสูง 30 ซม.
2.ใส่มูลโค-กระบือ 8 ถุงปุ๋ย และรำข้าว 8 ถุงปุ๋ย ให้ทั่ว
3.ผสมน้ำจุลินทรีย์ ขนาด 2 ช้อนโต๊ะละลายน้ำ 10 ลิตรรดให้ทั่วพอชุ่ม
4.ชั้นต่อไปทำเหมือนเดิมจนครบ 3 ชั้น ทิ้งไว้ 7 วัน ปล่อยปล่อยให้เกิดการหมักของจุลินทรีย์ จึงนำลูกหมูหย่านมมาเลี้ยง เมื่อเลี้ยงได้ระยะหนึ่งให้เติมวัสดุรองพื้นคอกด้วย และคอยเติมให้เต็มเสมอ
3.พันธุ์สุกร
ควรใช้สุกร 3สายเลือดจากฟาร์มที่ไว้ใจได้ และคัดสายพันธุ์มาสำหรับการเลี้ยงแบบปล่อยได้ดี หย่านมแล้ว อายุประมาณ 1 เดือน น้ำหนักประมาณ 12-20 กิโลกรัม

4.อาหารและวิธีการเลี้ยง
4.1ในระยะเดือนแรก ให้อาหารสำเร็จรูปชนิดเม็ด สำหรับสุกรหย่านมมีโปรตีนไม่ต่ำกว่า 15 เปอร์เซ็นต์ ผสมกับรำโรงสีชาวบ้าน ในอัตรา 1: 3 ให้กิน 3 เวลา เช้า กลางวัน เย็น เป็นเวลา 15 วันแรก หลังจากนั้นลดอาหารสำเร็จลงจนครบ 1 เดือนไม่ต้องให้อาหารสำเร็จรูปอีกต่อไป โดยในตอนกลางวันให้กินอาหารเสริมประเภทพืช ผัก และถ้ามีกากน้ำตาลให้หั่นพืชผักหมักกับกากน้ำตาลทิ้งไว้ 1 วัน แล้วให้กินจะเป็นการดียิ่ง
4.2ในระยะเดือนที่ 2 จนถึงจำหน่าย งดให้อาหารสำเร็จรูป เกษตรกรนำกากปลาร้าต้มกับรำข้าว หรือใช้รำปลายข้าว ในอัตรา 1: 1 และเศษพืชผักเป็นอาหารเสริม โดยมีระยะเวลาเลี้ยง 3 ถึง 3เดือนครึ่ง ได้น้ำหนักประมาณ 80-100 กก.

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:บ้านไร่ศรีสุทัศน์