Saturday, 27 July 2024

หนุ่มวิศวกร ทิ้งรายได้หลักแสน หันมาทำเกษตรไทยยุค 4.0 ที่บ้านเกิด

คุณสุริยา ขันแก้ว นับเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่หันหลังให้กับงานประจำบริษัทเอกชนที่มีรายได้เป็นเงินเดือน เดือนละเกือบแสนบาท มาทำเกษตร แต่ก่อนที่จะเริ่มต้นกลับมาใช้ชีวิตถิ่นเดิมที่บ้านเกิดในชนบท เขาวางแผนชีวิตและครอบครัวไว้อย่างน่าสนใจ วางแผน วาดฝัน ออกแบบแปลงเกษตร การจัดการแปลง ศึกษาหาความรู้จนมั่นใจว่าการเกษตรและครอบครัว ลงมือทำจริงแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ก้าวกระโดด จุดเด่นการทำเกษตรของคุณสุริยาจึงอยู่ที่การวางแผนและผลิตพืชผลทางการเกษตรจากการปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว เป็นแบบผสมผสานในแปลงนาเดียวกันสร้างมูลค่าเพิ่มของพื้นที่ การนำเทคโนโลยีการจ่ายน้ำแบบ เปิด-ปิด อัตโนมัติ มาใช้ในแปลง ทุ่นเวลาและแรงงาน

เมื่อชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นพอสมควร แบ่งปันช่วยเหลือสังคม ชุมชน เปิดแปลงเกษตรให้เป็นศูนย์เรียนรู้ ถ่ายทอดแนวความคิดประสบการณ์ให้แก่เกษตรกรและเยาวชน นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านฉบับนี้ นำท่านผู้อ่านไปพบกับคุณสุริยากันครับ คุณสุริยา เล่าย้อนอดีตให้ฟังว่า “ผมเป็นคนจังหวัดแพร่ครับ หลังจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ผมเข้ากรุงเทพฯ ไปเรียนต่อที่โรงเรียนช่างฝีมือทหาร จบแล้วได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการทหาร ยศจ่าสิบตรี และต่อมาเลื่อนยศเป็นจ่าสิบโท ลาออกไปทำงานบริษัทเอกชนของประเทศญี่ปุ่น มีหน้าที่ทำระบบเบรกรถยนต์ รถจักรยานยนต์ บริษัทส่งตัวไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่น 3 ปี กลับมารับตำแหน่งหัวหน้าวิศวกร ทำหน้าที่เขียนโปรแกรมควบคุมระบบเบรกในรถยนต์ หรือระบบ ABS

ช่วงปี 2560 บริษัทเปลี่ยนฐานการผลิตกลับไปประเทศญี่ปุ่น ผมมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าวิศวกร จะต้องไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น ณ เวลานั้น ผมคิดๆๆ หาทางออก ว่า แล้วครอบครัวล่ะ ห่วงลูก ห่วงครอบครัว หรือจะไปทำงานที่ญี่ปุ่นเงินเดือนเกือบแสนบาทนะ หรือจะเปลี่ยนงานใหม่ หรือจะกลับบ้านเกิดที่จังหวัดแพร่ แล้วจะไปทำมาหากินอะไร?”

คุณสุริยา เล่าต่อว่า หลังจากตัดสินใจพาครอบครัวกลับไปตั้งหลักที่จังหวัดแพร่ ก็คิดวางแผนชีวิตตนเองและครอบครัว โดยเฉพาะลูกที่ต้องย้ายโรงเรียนจากกรุงเทพฯ จะต้องส่งเสียให้ร่ำเรียนให้สูงที่สุดตามกำลังสติปัญญาของเขา ต้องลงทุนทำอะไรสักอย่าง เงินลงทุนก็พอมีเหลือจากเงินก้อนสุดท้ายที่บริษัทให้ เงินบำนาญจากราชการ แต่ก็ต้องเก็บออมไว้เป็นภูมิคุ้มกันให้ลูกได้เรียน แต่รายจ่ายในการดำรงชีวิต ต้องมีรายรับที่เพียงพอ คิดวางแผนทำอาชีพใหม่ คำตอบสุดท้าย คือ การเกษตร ผมคิดต่อไปอีกว่า แล้วจะต้องดำเนินการอะไร อย่างไร 1…2…3…4…เงินลงทุน ที่ดิน อีกทั้งความรู้ทางการเกษตร

คุณสุริยา บอกว่า ตนเองยังคงอยู่ที่กรุงเทพฯ เพื่อรอขายบ้าน นำเงินมาลงทุน ช่วงเวลานั้นกระแสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกลับมาแพร่หลายอีกครั้ง ตนเองก็ฉุกคิดได้ว่าจะดำเนินรอยตาม แต่ก็ยังไม่มีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ “6 มกราคม เป็นวันคล้ายวันเกิดของผม ผมคิดว่าจะหาของขวัญอะไรให้กับตนเอง คิดได้ว่า จะต้องไปเรียนรู้สิ่งแปลกใหม่ให้กับชีวิต ผมเดินทางไปที่มูลนิธิชัยพัฒนา จังหวัดปทุมธานี พบผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการเกษตร ซึ่งท่านก็ได้ให้ความกระจ่างในเรื่องหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่แก่ผมเป็นอย่างดี ท่านพาไปดูแปลงเกษตรสาธิต เป็นเกษตรผสมผสาน เนื้อที่ 1 งาน ทำเกษตรก็เป็นคลังอาหารได้ เหลือก็ขายมีรายรับ จึงจุดประกายความคิดขึ้นมาทันที” คุณสุริยา กล่าว

คุณสุริยา ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ท่านผู้อำนวยการยังได้แนะนำการเริ่มต้นทำการเกษตรอยู่ 2 เรื่องหลัก คือ ดิน กับ น้ำ
ดิน ท่านแนะนำให้ตรวจวิเคราะห์สภาพดินก่อน แล้วปรับสภาพดินตามผลการตรวจสอบไปตามนั้น ให้เลี้ยงไส้เดือนแล้วนำมูลไส้เดือนมาเป็นปุ๋ยช่วยปรับสภาพดินและเพิ่มธาตุอาหารในดิน น้ำ ท่านก็แนะนำให้คิดหาวิธีนำน้ำมาใช้ในแปลงเกษตรให้ได้ตลอดทั้งปี “ผมไม่ได้ไปมือเปล่า แต่ได้นำแผนผังระบบน้ำที่ผมออกแบบไว้ นำติดตัวไปด้วย เพื่อขอความเห็น ขอคำแนะนำ ซึ่งท่านก็เห็นดีเห็นงามด้วย และท่านยังแนะนำให้รวมกลุ่มกันทำเกษตร อย่าทำคนเดียว มันเหนื่อย” เมื่อได้รับคำอธิบายและคำแนะนำเช่นนั้น จึงเพิ่มความมั่นอกมั่นใจให้กับคุณสุริยา

สาธิตการจับปลาให้กับเยาวชน
“2 เรื่องนี้ ดินกับน้ำในการทำเกษตร คือของขวัญวันเกิดของผมครับ คุณสุริยา กลับมาศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบและการบริหารน้ำเพื่อการเกษตร จากสื่อออนไลน์ ยัง…ยัง ไม่พอ คุณสุริยาไปเข้ารับการฝึกอบรมการเลี้ยงไส้เดือนที่จังหวัดนนทบุรี เพื่อต่อยอดเป็นองค์ความรู้ โดยเขายอมเสียค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม หลังการฝึกอบรมได้วัสดุอุปกรณ์การเพาะเลี้ยงไส้เดือนกับตัวไส้เดือนพันธุ์แอฟริกัน หรือ AF มา 2 กะละมังพลาสติก นำกลับบ้านเกิด

แปลงแนวคิดสู่การทำแผนงาน
คุณสุริยา กล่าวว่า ได้ออกแบบ วางผังทำแปลงเกษตรที่บ้านเกิดจังหวัดแพร่ แล้วนำเรื่องดังกล่าวไปปรึกษากับญาติพี่น้อง ก็ไม่ค่อยจะมีใครเห็นด้วย ได้รับคำกล่าวว่า ปู่ ย่า ตา ยาย ก็ทำเกษตรมา ไม่เห็นมีใครร่ำรวยมีเงินมีทอง มันเหนื่อยนะ แต่ขณะนั้น แม่ยายปลูกผัก ท่านบอกว่า ปลูกผักขายได้ปีละหลายหมื่นบาท ก็ยังมีรายรับพอเลี้ยงชีพได้อย่างสบาย ได้ข้อคิดจากแม่ยาย และถือเป็นต้นแบบคำแนะนำให้แก่ตน จึงมุ่งมั่น ออกแบบแบ่งพื้นที่ ซึ่งมีอยู่ 1 ไร่ กับที่ซื้อเพิ่มมาอีก 1 ไร่ รวมเป็น 2 ไร่ก่อน จัดผังอย่างไร ปลูกอะไรให้มีผลผลิตเป็นรายรับรายวัน รายสัปดาห์ และรายปี

พืชผักที่จะนำมาปลูก คำนวณปริมาณและชนิดใดที่ต้องกินและขายได้ดีในช่วงใด ได้แก่ ผักบุ้ง ผักกาด คะน้า ผักสลัด ผักชี คือปลูกทุกอย่างที่กินได้ เหลือก็ขายปลา คำนวณปริมาณและประเภทของปลาที่จะนำมาเลี้ยงในบ่อน้ำและในนาข้าว การตลาด วางแผนไว้ว่าเหลือจากกินในครอบครัวแล้ว จะขายที่ตลาดในชุมชนก่อน แล้วค่อยขยายไปตลาดนอกชุมชน เพราะในชุมชนมีร้านอาหารดังๆ ที่ต้องการวัตถุดิบประเภทผักเป็นจำนวนมาก คำนวณต้นทุนการผลิต รายรับ-รายจ่าย = เงินออม

คุณสุริยา ได้ให้รายละเอียดว่า เมื่อวางแผนที่จะทำแปลงเกษตรเสร็จแล้ว ก็ลงมือปฏิบัติ อันดับแรกถมที่นาให้เป็นแปลงปลูกผักและแปลงสาธิต ขุดบ่อเลี้ยงปลา และนำน้ำมาใช้ในแปลงเกษตร พร้อมจัดซื้อจัดหาวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ที่จะใช้มาดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไปทำทีละเรื่อง เริ่มปรับสภาพดิน เพราะพื้นที่เดิมเป็นนาข้าวที่ไม่ใช่พื้นที่ราบเสียทีดียว ซึ่งเป็นลักษณะทางภูมิประเทศโดยทั่วไปของภาคเหนือตอนบน จึงต้องปรับสภาพก่อนเพื่อให้ดินมีความอุดมสมบูรณ์ มีอินทรียวัตถุ ธาตุอาหาร น้ำ อากาศที่เพียงพอและเหมาะสมที่จะทำให้พืชผักเจริญเติบโต โดยใช้มูลไส้เดือนเป็นพระเอก ตามด้วยปุ๋ยหมัก ในการเสริมธาตุอาหารและให้เกิดจุลินทรีย์ในดิน โดยไม่ใช้สารเคมีใดๆ จากนั้นวางระบบน้ำด้วย ท่อ PVC เป็นระยะๆ ติดตั้งหัวสปริงเกลอร์ เป็นการปลูกผักแบบหมุนเวียนบนพื้นที่เดียวกัน ซึ่งป้องกันโรคและแมลงได้กับเหตุผลที่เลือกปลูกผักชนิดดังกล่าว เพราะตลาดในชุมชนต้องการและเป็นรายรับรายวัน

ขุดสระน้ำ นำน้ำมาใช้ในแปลงเกษตรและเลี้ยงปลาดุก ปลานิล สระน้ำนี้เป็นตัวช่วยทำให้ดินชุ่มชื้นได้มาก ใช้เป็นที่พักน้ำปลูกผักกระเฉดเพื่อลดสารพิษ เมื่อจะนำน้ำมาใช้ น้ำนี่ช่วยลดต้นทุนในการเกษตรได้มาก แล้วยังเป็นที่พักผ่อนได้ด้วย รอบสระน้ำปลูกกล้วย ต้นแค ผักหวานป่า มะม่วง มะพร้าว มะยงชิด ส้มโอ ทุเรียน เป็นรายรับรายสัปดาห์และรายปี นำผลผลิตออกสู่ตลาด เพาะเลี้ยงไส้เดือน เพื่อใช้มูล ขาย ฝึกอบรม คุณสุริยา บอกว่า สร้างโรงเรือนเพาะเลี้ยงไส้เดือน ขยายจำนวนจากที่ได้มาจากการอบรม จำนวน 2 กะละมังพลาสติก ได้เป็น 30 กะละมังพลาสติก แบ่งปันให้เพื่อนเกษตรกรนำไปเลี้ยงสร้างอาชีพ “ก็มีบางครั้งที่ทางเทศบาลขอใช้เป็นสถานที่ฝึกอบรม สาธิตการเลี้ยงไส้เดือน ผมก็จะเป็นวิทยากรให้และยังมีรายรับจากการขายตัวไส้เดือนบวกชุดอุปกรณ์ ชุดละ 270 บาท ขายมูลไส้เดือน บรรจุถุง ถุงละ 1 กิโลกรัม ราคา 30 บาท น้ำมูลไส้เดือน ขวด 500 ซีซี ขวดละ 20 บาท”

เกษตรผสมผสาน คือทางออกความยั่งยืนในชีวิต
เกษตรผสมผสาน (Integrated Farming) ที่คุณสุริยาทำอยู่นี้เป็นการจัดการการเกษตรภายใต้การเกื้อกูลกันตามธรรมชาติที่ก่อเกิดประโยชน์แก่กันและกัน การอยู่ร่วมกันระหว่างพืชกับสัตว์และสิ่งแวดล้อม ในทรรศนะของคุณสุริยา แม้รูปแบบนี้จะไม่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่มุ่งสู่การค้าเป็นหลักไปสู่เกษตรไทย ยุค 4.0 ก็ตาม แต่เป้าหมายจากระบบคิดของคุณสุริยามีความชัดเจนที่จะนำพาครอบครัวให้มีชีวิตที่มั่นคงได้ สร้างคลังอาหารให้แก่ครอบครัวและชุมชน โดยมีขีดความสามารถที่จะพัฒนาไปสู่เกษตรธรรมชาติเชิงการค้าด้วยรูปแบบของกลุ่มหรือสหกรณ์ หรือวิสาหกิจชุมชน

เมื่อคุณสุริยาประสบผลสำเร็จจากการทำเกษตรผสมผสานแล้วได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ การสรุปบทเรียน แง่คิดมุมมองต่างๆ มาแบ่งปันให้แก่คนในชุมชนและเป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกร เยาวชน บุคลากรของหน่วยงานราชการและเอกชน ปีหนึ่งๆ ก็หลายครั้ง หลายกลุ่ม โดยมีรายได้จากค่าวิทยากรบ้าง ขายผลผลิต ทั้งผักสด เมล็ดพันธุ์บ้าง ก็พอคุ้มค่ากับรายจ่ายที่เกิดขึ้นจากการจัดการ ซึ่งส่วนใหญ่ที่มาขอดูงานหรือให้เป็นวิทยากรในเรื่องระบบน้ำ Automatic Watering System ในแปลงเกษตร การเลี้ยงไส้เดือน ปุ๋ยหมักจากมูลไส้เดือน ผักปลอดสารพิษ และคุณสุริยาได้รับการคัดเลือกให้เป็นปราชญ์เพื่อความมั่นคงระดับจังหวัด ปี 2561 จากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)

คุณสุริยา อธิบายขยายความว่า การให้ลูกได้คลุกคลีกับธรรมชาติ ดิน น้ำ ได้วิ่ง ได้เล่น ได้ลงแปลง ไม่ได้บังคับนะ เขาได้กินอาหารที่ผลิตแบบธรรมชาติ ทำให้เขาได้สร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตจริงของชนบทบ้านเกิด เป็นเด็กที่มีอารมณ์ร่าเริง มองโลกในแง่ดี ตั้งใจทำงาน จริงใจ เป็นธรรมชาติ สุขภาพของเขาก็แข็งแรงมีภูมิคุ้มกันที่ดี เพราะตั้งแต่ย้ายมาจากกรุงเทพฯ ไม่เคยป่วยหรือเป็นไข้ ซึ่งแตกต่างจากที่อยู่กรุงเทพฯ เขารู้จักการคิดเชิงระบบและมีกระบวนการคิดตามพื้นฐานของธรรมชาติ เช่น เขาเห็นน้ำในนาไหลจากที่สูงลงที่ต่ำกว่า นี่แหละธรรมชาติ เมื่อโตขึ้นเขาจะแก้ไขปัญหาด้วยตนเองได้บนพื้นฐานของการคิดที่อิงธรรมชาติ อีกอย่างเขามีวิถีชีวิตผูกพันกับครอบครัว ปู่ ย่า ตา ยาย มีจิตวิญญาณในการผูกพันบ้านเกิด ว่านี่คือ ถิ่น ผืนดินของพ่อแม่ทำไว้

“ให้เขามีสำนึกว่าเขาเป็นคนบ้านแม่ลาน หรือเขาเป็นคนเมืองแพร่นะ และวาดฝันไว้ว่าเขาจะเป็นฟันเฟืองหนึ่งในการพัฒนาบ้านเกิดเมืองนอนต่อไปในอนาคต” สำหรับคุณสุริยาแล้วงานอดิเรกของเขาคือ การตกปลา คุณสุริยาให้ทรรศนะว่า การตกปลาในแม่น้ำยม จะใช้ช่วงเวลาที่ปลอดจากงานในแปลงเกษตร นอกจากเป็นการกีฬาตกปลาแล้ว ก็เพื่อการผ่อนคลาย ฝึกสมาธิความนิ่ง เรียนรู้ธรรมชาติของปลาว่าช่วงเวลาใดที่ปลากินเหยื่อหรือไม่กินเหยื่อ บางครั้งก็ได้ข้อคิดดีๆ เกิดความคิดขึ้นมาทันที ในช่วงรอปลากินเหยื่อ ได้บทเรียนชีวิตนำไปประยุกต์ใช้เพราะเป็นเรื่องของธรรมชาติ