Saturday, 27 July 2024

หนึ่งเรื่องราวของความเพียรพยายามอุตสาหะ ที่เป็นต้นแบบให้กับประชาชนชาวไทย

“วิริยะนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เมื่อเริ่มต้นแล้วต้องมีวิริยะ หมายความว่าต้องเพียร ต้องมีความขยัน วิริยะนี้ก็คู่กับขันติ คือมีความอดทน บางทีเวลาเราทำงานอะไรก็ตาม ทั้งในทางโลกทางธรรม เราทำงานแล้วเหนื่อย เมื่อเหนื่อยก็ต้องมีความอดทนในความเหนื่อยนั้น ก็ต้องมีความเพียรที่จะปฏิบัติต่อไป”

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุยเดชฯ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พุทธศักราช 2489
ดังพระราชดำรัสดังกล่าว เนื่องในโอกาสที่พระครูใบฎีกาเล็ก ญานุตตะโร วัดหลวงปรีชากูล อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี และคณะ เฝ้าถวายเงินเพื่อโดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัยและต้นเทียนพรรษา เป็นหนึ่งในข้อความที่ถือเป็นโอวาสต่อพสกนิกรชาวไทยในเรื่องของความเพียรพยายามอุตสาหะ และแสดงให้เห็นถึงอุปลักษณะนิสัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่มีความขยันหมั่นเพียร มีความเข้าใจ ผ่านเรื่องราวและประสบการณ์ที่ต้องใช้ความเพียรพยายามอย่างหนักจนสามารถเป็นนต้นแบบให้กับประชาชนชาวไทยได้

ตัวอย่างง่ายๆ ที่เห็นได้ชัดถึงความเพียรพยายามของพระองค์ ที่มีความวิริยะอดทนสูงก็คือ การเสด็จเยี่ยมเยียนราษฏรทั่วประเทศด้วยตัวของพระองค์เอง ทุกๆ ที่ที่ทรงเสด็จ พระองค์จะทรงบันทึกลงบนกระดาษแผ่นใหญ่ และค่อยๆ ตัดต่อ ปิดกาวทีละชิ้นๆ จนทำให้พระองค์ทรงมองเห็นถึงปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนจากกระดาษแผ่นใหญ่แผ่นนั้น ซึ่งก็คือแผนที่ที่พระองค์ทรงประดิษฐ์ขึ้นและใช้ในการไปเยี่ยมเยียนราษฎร ซึ่งเป็นระยะเวลากว่า 60 ปีด้วยกันที่พระองค์ทรงงานด้วยความวิริยะอุตสาหะ ถึงแม้จะมีอาการประชวรเป็นครั้งคราว แต่พระราชดำรัสที่พระองค์ทรงงานเอาไว้ก็ก่อเกิดเป็นโครงการในพระราชดำริกว่า 3,000 โครงการทั่วประเทศไทย คอยอุ้มชูชาวไทยให้ลืมตาอ้าปากได้ รวมไปถึงภาพรวมในเรื่องของเศรษฐกิจที่ดีขึ้นของประเทศไทย จากเหตุการณ์ที่ผ่านมานี้จึงทำให้ทั่วโลกตระหนักถึงพระปรีชาสามารถจนเป็นที่มาของรางวัลจากองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งมีมากด้วยกันถึง 34 รางวัล พร้อมกับสถาบันการศึกษาทั่วโลกที่น้อมถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์รวม 21 ปริญญาบัตร นับเป็นรางวัลพระเกียรติยศระดับโลกมากมายทีเดียว

ครั้งหนึ่งพระองค์ทรงเคยได้เหรียญทองจากการแข่งขันเรือใบประเภทโอเค ในการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 4 ปี พ.ศ.2501 ทุกการแข่งขันพระองค์ทรงยึดกฎกติกาเป็นที่ตั้ง โดยมีการแข่งขันเรือใบครั้งหนึ่งที่พระองค์เสด็จฯ ออกจากฝั่งไปได้ไม่นานก็ทรงแล่นเรือใบเข้าฝั่ง แล้วตรัสกับผู้ที่คอยมาเฝ้าว่ากลับเข้าฝั่ง เพราะเรือใบพระที่นั่งแล่นไปโดนทุ่นเข้า ซึ่งในกติกาการแข่งเรือใบถือว่าฟาวล์ และในขณะนั้นไม่มีใครเห็น ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้แสดงให้เห็นว่าในหลวงของคนไทยนั้นทรงเข้าใจในเรื่องสปิริตนักกีฬา อันหมายถึงการรู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ซึ่งจะเป็นแนวทางที่ใช้ได้ทั้งในเกมกีฬาและชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ชัยชนะครั้งนั้น พระองค์ยังมีพระราชกระแสรับสั่งอย่างน่าสนใจว่า “การชนะการแข่งขัน ความจริงคือ การชนะตนเองนั่นแหละ” สะท้อนถึงปรัชญาลึกซึ้งที่ทรงตระหนักในเกมกีฬา และการเอาชนะตัวเองได้ก็ถือเป็นความอดทนสูงสุดที่พระองค์มีต่อตัวเอง

แบบอย่างที่พระองค์ทรงแสดงให้ประชาชนชาวไทยเห็น ในเรื่อง ความเพียรพยายามอุตสาหะ ดังเหตุการณ์สำคัญของพระองค์ได้บ่งบอกถึงการนำปรัชญาในด้านของความเพียร ความอดทนนี้ ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างดี ไม่ว่าจะเป็นความอดทนกระทำการใดโดยไม่ได้รับผลตอบแทน หรือแม้แต่การอดกลั้นที่จะไม่กระทำความผิด อดกลั้นใจตนเอง รู้จักแพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ก็ถือเป็นอีกหนึ่งแง่มุมที่พสกนิกรชาวไทยสามารถนำตัวอย่างที่ดีของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้ในชีวิตประจำวันได้ รวมไปถึงในเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียงก็ตาม ไม่เพียงแต่ความประหยัดอดออมเท่านั้น แต่ความเพียร ความอดทนถือเป็นเรื่องสำคัญ และถือเป็นก้าวแรกสู่ความพอเพียง จะต้องรู้จักปฏิบัติ รู้จักห้ามใจ อดทนต่อสิ่งเร้า และสิ่งของฟุ่มเฟือยให้ได้เป็นประเด็นสำคัญ และหวังว่าความอดทนเพียรพยายามที่พระองค์พึงปฏิบัติเป็นตัวอย่างที่ดีมาตลอดนี้จะไม่สูญเปล่า สิ่งต่างๆ ที่พระองค์ได้แนะแนวทางในการปฏิบัติด้วยตนเองหรือจะเป็นการให้โอวาสก็ดี สิ่งเหล่านี้นั้นล้วนเป็นสิ่งที่ประชาชนชาวไทยสามารถนำไปใช้และต่อยอดให้ประสบความสำเร็จในอนาคตได้อย่างแน่นอน หากทุกคนรู้จักกับความอดทนที่จะใช้ชีวิตอยู่ในกรอบของศีลธรรมและนำมาซึ่งความดี

ไม่ว่าพระองค์จะได้รับรางวัลเกียรติยศต่างๆ หรือเป็นบุคคลที่มีคนทั่วโลกให้ความสำคัญขนาดไหนก็ตาม แต่หากความสุขในพระราชหฤทัยของพระองค์กลับไม่ใช่รางวัลที่ได้รับการถวายสดุดีต่างๆ เหล่านี้ แต่รางวัลที่ยิ่งใหญ่ของพระองค์นั้นคงเป็นความสุขสวัสดี และรอยยิ้มของประชาชนชาวไทย ซึ่งชาวไทยหลายคนทราบกันดีว่า หลากหลายพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงงานอย่างหนักให้กับชาวไทย พระองค์ทรงใช้พระเนตรข้างซ้ายข้างเดียวในการทรงงานมาโดยตลอด เนื่องจากผลจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ที่รถพระที่นั่งชนกับรถบรรทุกอย่างแรง ทำให้เศษกระจกเข้าพระเนตรข้างขวา เป็นเหตุให้ในหลวงทรงพระเนตรเทียมข้างขวาในขณะที่มีอายุเพียง 20 พรรษาเท่านั้น

สุดท้ายนี้หวังว่าความอดทน ความเพียรพยายาม ที่พระองค์ทรงทำให้พสกนิกรชาวไทย แบบไม่หวังผลตอบแทนมาโดยตลอด คงจะเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ดีที่ช่วยให้คนในประเทศเกิดการพัฒนาและนำพาประเทศไทยให้พบกับความเจริญต่อไปในอนาคต