Saturday, 27 July 2024

วิธีทำน้ำดื่มจากดอก อัญชันคลายร้อนกัน รสเปรี้ยวๆหวานๆดื่มแล้วสดชื่นขึ้นมาทันที

อัญชัน คือ พืชผักที่เราคุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดี นิยมนำมาใช้ประโยชน์ในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นผักเครื่องเคียงน้ำพริก เป็นเครื่องสำอาง เป็นสีผสมอาหาร หรือทำเป็นเครื่องดื่ม ไม่เพียงแค่สีน้ำเงินสดใสของดอกเท่านั้น แต่ยังอุดมไปด้วยสรรพคุณทางยา จัดได้ว่า อัญชันเป็นสมุนไพรที่ให้ประโยชน์ได้ตั้งแต่รากจนถึงดอกแถมเป็นพืชที่ปลูกได้ง่าย โตไว ทำให้อัญชันเป็นสมุนไพรราคาถูกที่ใครๆ ก็สามารถหามารับประทานกันได้ไม่ยาก

สรรพคุณทางการแพทย์แผนไทยของดอกอัญชัน
1. ราก : ต้มดื่มช่วยขับปัสสาวะ
2. ดอก : ตำเป็นยาพอก หรือคั้นเอาน้ำทาแก้ฟกบวม ทำยาสระผมแก้ผมร่วงเนื่องจากมีฤทธิ์เป็นยาเย็น ต้มน้ำใช้ดื่มช่วยดับกระหาย เป็นยาเย็นแก้ร้อนใน
3. เมล็ด : ใช้กินเป็นยาระบายถ่ายท้อง
4. แพทย์อายุรเวท (ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย) : ใช้ดอกอัญชันในการเข้าตำรับยาเพื่อช่วยลดความเครียดและวิตกกังวล

สูตรการทำน้ำดอกอัญชัน
ส่วนผสมสำหรับการทำน้ำดอกอัญชัน ให้เลือกเก็บดอกอัญชันสดมาตากแห้งเก็บไว้ เมื่อต้องการนำมาใช้ ให้กะประมาณดอกอัญชันแห้ง 1 กำ สำหรับต้มในน้ำ 1 หม้อไม่ใหญ่มาก แต่หากเก็บเป็นดอกสดมาก็ใช้ได้เช่นกัน ให้นำดอกมาล้างทำความสะอาดก่อนนำลงต้มในหม้อ อาจผสมกับใบเตยขณะต้มเพื่อเพิ่มกลิ่นหอมก็ได้

วิธีการทำน้ำดอกอัญชัน ดังนี้
1. ต้มน้ำดอกอัญชันไปเรื่อยๆ จนสีของน้ำเข้มขึ้นเป็นสีม่วง ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3 – 5 นาที
2. จากนั้นกรองแยกกากกับน้ำออกจากกัน นำน้ำดอกอัญชันที่ได้ไปต้มต่อ ผสมน้ำตาลหรือน้ำผึ้งลงไป
3. ชิมรสให้ได้พอดี สามารถนำมาดื่มเป็นชาร้อน หรือจะผสมกับน้ำแข็งดื่มแบบเย็นเพื่อดับกระหายก็ได้เช่นกัน

ข้อควรระวังในการรับประทานดอกอัญชัน
1. ควรระมัดระวังการบริโภคดอกอัญชันร่วมกับยาที่มีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มเกล็ดเลือด หรือยาที่ทำหน้าที่ป้องกันการแข็งตัวของเลือด เช่น แอสไพริน (aspirin) วาร์ฟาริน (warfarin) เพราะจะทำให้ฤทธิ์เข้าไปเสริมกัน ซึ่งอาจจะส่งผลอันตรายต่อร่างกายได้
2. ในกลุ่มคนที่มีภาวะภูมิแพ้เกสรดอกไม้ เป็นไปได้ก็ควรหลีกเลี่ยง เพื่อป้องกันอาการแพ้กำเริบขึ้นมา
3. ไม่ควรดื่มน้ำดอกอัญชันแทนน้ำเปล่า หรือดื่มในปริมาณเข้มข้น หรือมากเกินไป เพราะจะส่งผลให้ไตทำงานหนัก เนื่องจากต้องขับเอาสารสีจากดอกอัญชันออกมา


4. ผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือต่ำ ควรงดการบริโภค หรือบริโภคแต่น้อยเท่านั้น เพราะจะทำให้เกิดอาการหน้ามืดและหมดสติได้ง่าย เนื่องจากเมื่อรับประทานแล้วจะเกิดการขับน้ำออกจากร่างกายทางปัสสาวะมากขึ้น ทำให้ความดันโลหิตตกกระทันหันได้
5. ผู้ป่วยโรคโลหิตจาง ควรระมัดระวังการบริโภคให้มาก เนื่องจากในดอกอัญชันมีฤทธิ์ที่ทำหน้าที่ละลายลิ่มเลือด ส่งผลให้เป็นอันตรายต่อตัวผู้ป่วยได้


6. หลีกเลี่ยงการเด็ดดอกอัญชันกินสดๆ เพราะกลีบเลี้ยงหรือขั้วดอกจะมียางที่ทำให้ระคายเคืองภายในลำคอ ส่วนของเมล็ดหากรับประทานเข้าไปสดๆ ก็จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้