Saturday, 27 July 2024

ระลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณ ข้าวพระราชา “บิดาแห่งข้าวไทย”

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหา ภูมิพลอดุลยเดชรัชกาลที่ 9 กับ “การพัฒนาข้าวไทย”…พระยุคลบาทยาตรา ปวงประชาเป็นสุข ทรงทุ่มเทพระวรกาย อุทิศกำลังความคิด เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของ “ชาวนา” ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีกำลังใจในการทำนาปลูก “ข้าว”กล่าวได้ว่า ที่ใดเดือดร้อน ณ ที่นั่นจะมีพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินไปทรงช่วยเหลือ นับเป็นบุญของประชาชนชาวไทยทั้งแผ่นดินที่ได้อยู่ใต้ร่มพระบารมี ซึ่งมิอาจหาสถานที่ใดในโลกเสมอเหมือนได้ “คนไทย”…ทุกคนควรระลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณ ช่วยแบ่งเบาด้วยการช่วยเหลือตัวเอง ช่วยเหลือชุมชน“รัก” และ “สามัคคี” กัน โดยนึกถึงประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ www.thairice.org บันทึกไว้ว่า

กว่าจะมาถึงวันนี้…วันที่ “ข้าวไทย” มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศโดยเฉพาะ “ข้าวหอมมะลิ” ได้รับคำกล่าวขวัญว่าเป็นข้าวที่อร่อยที่สุดในโลก กว่าจะมาถึงวันนี้…วันที่ “ชาวนา” มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มี ร า ย ได้เพียงพอที่จะเลี้ยงดูครอบครัว มีขวัญกำลังใจ มีรอยยิ้มเบิกบาน มีความภาคภูมิใจที่ได้เกิดเป็น “ชาวนา”ความร่มเย็นเป็นสุขที่เกิดขึ้นนี้ เพราะพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงอุทิศพระองค์ช่วยเหลือชาวนาและพัฒนาข้าวไทยในทุกๆด้าน

อนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว บอกว่า ในหลวงกับข้าวไทย ปีนี้กรมการข้าวเทิดพระเกียรติให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช เป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย” เสนอ ครม.ไปแล้วเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว อยู่ในกระบวนการที่กำลังเสนอสำนักนายกฯประกาศในราชกิจจานุเบกษา“พระองค์ท่านเป็นองค์อุปถัมภ์ในเรื่องการวิจัยข้าว โครงการส่วนพระองค์ที่วิจัยด้านข้าวมายาวนาน ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริทั้ง 6 แห่ง ก็จะมีเรื่องข้าวเป็นหลักด้วยข้าวเกี่ยวข้องกับชาวนา คนไทย ประเทศไทย รวมทั้งงานในพระราชดำริ โครงการหลวงต่างๆก็ทำเกี่ยวกับข้าวเยอะมาก ที่พระองค์ท่านมีพระราชดำริ พระราชกระแสรับสั่ง…”

“พระบิดาเรื่องข้าว” พระองค์ท่านได้รื้อฟื้น “พระราชพิธีพืชมงคล จรดพระนังคัลแรกนาขวัญ” เป็นขวัญกำลังใจกับชาวนา ในเรื่องธนาคารเมล็ดพันธุ์…พันธุ์ข้าวพระราชทานที่กระจายไปสู่ชาวนาไทย ให้รู้จักการใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพเป็นปัจจัยหลัก งานที่กรมการข้าวสนองตามพระราชดำริ ตามโครงการ ตามพระราชกระแสรับสั่งมากมายในเรื่อง “ข้าว”…เป็นที่ประจักษ์ มีกระแสพระราชดำรัสหลายครั้งหลายคราที่ทุกคนน้อมนำมาปฏิบัติจนถึงทุกวันนี้

ภารกิจกรมการข้าว การสนองน้อมนำพระราชกระแสปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ ที่มารองรับ เรื่อง “ข้าว” นอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้วยังเป็นเรื่องของวิถีชีวิต เป็นมิติทางวัฒนธรรมดำเนินการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวชาวเขาบนที่สูงให้เพิ่มผลผลิตให้พอเพียงกับความต้องการ นาขั้นบันไดก็เป็นพระราชดำริเพื่อแก้ปัญหาการทำไร่เลื่อนลอย “เกษตรทฤษฎีใหม่” มีนาข้าวในระบบ ข้าวกับน้ำเป็นสิ่งที่คู่กัน…แม้กระทั่งการน้อมนำเอาปรัชญเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ก็เป็นแนวทางที่กรมการข้าวรับมาปฏิบัติ“ข้าว” กับประเทศไทย…วิถีชีวิตคนไทยมีหลายมิติที่ต้องมองให้ลึกซึ้งรอบด้าน

อนันต์ย้ำว่า ถ้าเรามองข้าวที่พูดถึง…ในมิติเป็นพืชเศรษฐกิจ ทำร า ย ได้ ส่งออก แต่ในอีกหลายมุมยังมีมิติของความเป็นวิถีชีวิต วัฒนธรรม สังคม ค่อนข้างจะลึกซึ้ง…ส่วนใหญ่จะเป็นมิติทางสังคม วัฒนธรรมมากกว่า“นาแปลงใหญ่” หนึ่งในโครงการที่ “กรมการข้าว” ดำเนินการมา 2 ปีแล้ว เอาชาวนามารวมกัน บริหารทรัพยากรร่วมกัน วางแผนการผลิตร่วมกัน เพื่อจะลดต้นทุนเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้มากขึ้น

สอดรับกับนโยบายในภาพใหญ่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มุ่งเน้นการบริหารจัดการ การเชื่อมโยงกับตลาด พุ่งเป้า “ลดต้นทุน เพิ่มการแข่งขัน”ข้อมูลวันนี้ มีจำนวนนาแปลงใหญ่เสนอจัดตั้ง 391 แปลง ส่วนใหญ่ดำเนินการโดยกรมการข้าว และดำเนินการโดยหน่วยงานอื่นบางส่วน…แยกย่อยเป็นศูนย์เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรด้านข้าว 172 แปลง…เป็นศูนย์ข้าวชุมชน 312 แปลง โดยมีพื้นที่จำนวน 941,958.30 ไร่…และมีจำนวนเกษตรกรเข้าร่วม 63,727 ราย

ท่ามกลางวิกฤติธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น “น้ำท่วม” หรือ “ภัยแล้ง” อนันต์บอกว่า “นาแปลงใหญ่”…กับปัญหา “น้ำท่วม” ที่กำลังเผชิญต้องบอกว่าไม่มีปัญหาเท่าไหร่ พิจิตรกับนครสวรรค์บางส่วนน่าจะ 3-4 แปลง ราว 2,000 ไร่ที่ได้รับผลกระทบ…ที่อยุธยามีแนวโน้มจะหลีกเลี่ยงเก็บเกี่ยวให้ทัน“ตั้งแต่เริ่มรวบรวมเกษตรกรก็พยายามหาพื้นที่ที่มีความเสี่ยงน้อย เพียงแต่รอบการปลูกที่ผ่านมาควรปลูกตั้งแต่เดือนเมษายน พฤษภาคม แล้วก็จะทันเก็บเกี่ยวเดือนสิงหาคม ก่อนกันยายนก็จะทันพอดี ไม่โดนน้ำท่วม แต่น้ำในเขื่อนไม่มี…บางส่วนก็ไม่ได้ปลูก บางที่ก็ปลูกล่าช้า ถึงวันนี้ทำให้ได้รับผลกระทบอยู่บ้าง”วงรอบปกติ “นาแปลงใหญ่” ทำปีละไม่เกิน 2 รอบ เหมือนนาทั่วไป แต่รวมการบริหารจัดการ

ท่ามกลางดินฟ้าอากาศที่แปรปรวน ถึงหน้าน้ำ…น้ำก็ท่วมรุนแรง ยามแล้งก็เดือดร้อนแสนสาหัส หลายคนพูดถึงการพัฒนา “ข้าวพันธุ์ทนแล้ง…สู้น้ำ” จริงๆแล้วเราทำมาอย่างต่อเนื่องร่วมกับหลายหน่วยงาน ทำมาก่อนหน้านี้กว่า 5 ปีแล้ว นับจากมีกระแสการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ พัฒนาพันธุ์มีทั้งพันธุ์ทนแล้ง ทนน้ำท่วมฉับพลัน“กรมการข้าว”…ก่อตั้งเกิดขึ้นจากการผลักดันของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในบรรยากาศเศร้า…รวมพลังข้าราชการกรมการข้าวพูดคุยกัน เราจะใช้โอกาสนี้น้อมนำกระแสพระราชดำรัส พระราชดำริ โครงการแนวคิดต่างๆมาประมวลในช่วงเดือนนี้ปีนี้เกี่ยวกับเรื่องข้าว

“ประมวลงานที่สนองพระองค์ท่านในเรื่องต่างๆดึงออกมาเดินหน้างานต่างๆ ส่วนไหนที่ค้างๆอยู่ให้สัมฤทธิผล ต้องเร่งรัดดำเนินการให้สำเร็จลุล่วง”อนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมการข้าว กล่าวทิ้งท้าย“…ข้าวต้องปลูก เพราะอีก 20 ปี ประชากรอาจจะ 80 ล้านคน ข้าวจะไม่พอ ถ้าลดการปลูกข้าวไปเรื่อยๆ ข้าวจะไม่พอ เราจะต้องซื้อข้าวจากต่างประเทศ เรื่องอะไรประชาชนคนไทยไม่ยอม คนไทยนี้ต้องมีข้าว แม้ข้าวที่ปลูกในเมืองไทยจะสู้ข้าวที่ปลูกในต่างประเทศไม่ได้ เราก็ต้องปลูก”

ความตอนหนึ่งในพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการพัฒนาพื้นที่บ้านโคกกูแวอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส พ.ศ.2536 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระเมตตาต่อพสกนิกรชาวนาไทย ทรงทุ่มเทพระวรกายบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาข้าวไทยและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาไทยตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆเกี่ยวกับ “ข้าว” และ “ชาวนา” มากมายพระองค์ท่านมีสายพระเนตรอันกว้างไกลเพื่อ “ชาวนา” จึงทำให้…“แผ่นดินไทย” กลายเป็น… “แผ่นดินทอง” ความทุกข์ยากลำบากแปรเปลี่ยนเป็นความสุขสบาย อยู่แบบ…“พอเพียง”.