Saturday, 27 July 2024

รปภ.เกษียณ ยึดหลักเกษตรพอเพียง ปลูกผักกลางเมืองหลวงแจกจ่ายคนรอบข้างฟรี

เป็นภาพที่จะเห็นในทุกวันเสาร์ของสัปดาห์ ที่อดีตรปภ.วัยเกษียณอายุวัย 60 จะแบกผักที่เหลือจากการแจกจ่ายกับคนรอบข้าง ให้คนพื้นที่ไกลห่างไม่สะดวกมาเก็บในราคาเพียง 5 บาทหรือแล้วแต่จะให้ บริเวณตลาดนัดในหมู่บ้าน

โดยที่ ‘สวนผักคุณตาเกษตรพอเพียง’บนพื้นที่ 300 ตรารางเมตร ในซอยรามคำแหง 162 (ซอยมิสทีน) แห่งนี้ ทุกๆ คนสามารถที่จะมาหยิบเก็บผักได้ตลอดเวลาที่ต้องการฟรีๆ นอกจากนี้ยังแจกจ่ายเมล็ดพันธุ์เพื่อนำไปปลูกทานหรือขายได้หากต้องการ

“ปุ้มปุ้ย”หรือ“วิภาพร เสวันนา”ลูกสาวผู้รับไม้สานต่อสวนผักคุณตาเกษตรพอเพียงเล่าว่า จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นโดยคุณพ่อเป็นคนบุกเบิกทุกอย่าง เพราะทั้งชีวิตมีอาชีพทำนาทำสวนอยู่ที่จ.อุตรดิตถ์ ก่อนจะเจอต้มยำกุ้งเล่นงานทำให้ต้องอพยพครอบครัวมาขายแรงงานเป็นรปภ.ที่กรุงเทพฯ

“แต่ก่อนทำเกษตรเชิงเดียวปลูกพืชผลที่เป็นเศรษฐกิจในจังหวะนั้นๆ คะน้ากวางตุ้ง หอมแดง หอมแบ่ง ถั่ว ปลูกเป็นแปลงใหญ่ส่งขายตลาด ทีนี้เราใช้เคมีปุ๋ยทำเท่าไหร่ก็เอาเงินมาจ่ายค่าปุ๋ยหมด พอช่วงปี พ.ศ.2540 ก็ขาดทุน ทิ้งไร่นาบ้านนอกเพื่อมาขุดทองกทม.”

แต่ด้วยความเป็นลูกเกษตรเป็นชาวนาเต็มขั้นทำให้ทิ้งนิสัยการปลูกเพาะปักชำพืชผักไม่ได้ ในช่วงที่ย้ายมาทำงานเป็นหน่วยรักษาความปลอดภัยก็ปลูกพืชสวนครัว อาทิ กะเพรา โหระพา พริก ฯลฯ ไว้หน้าห้องเช่าขนาด 27 ตารางเมตร “แกรักต้นไม้ พื้นที่ 1 ตารางวาหน้าห้องว่างเลิกงานแกก็จะหยิบกระถางใส่เมล็ดพันธุ์ปลูกเต็มไปหมด”

จากนั้นพอพื้นที่ริมระเบียงหน้าห้องเช่าเต็มด้วยผักก็ลามไปปลูกดาดฟ้า วิภาพรเล่าถึงคุณพ่อด้วยสีหน้าเต็มไปด้วยรอยยิ้มว่าท่านนำเทรนด์ตั้งแต่แรกๆ ในช่วงปี พ.ศ. 2542

เราแทบไม่ซื้อผักกันเลยกับที่แกปลูกทำเกือบ 10 ปี เพราะหมุนเวียนวันนี้กินกระถางนี้ พรุ่งนี้ก็มาปลูกใหม่ จนเรากับพี่ๆ เรียนจบทำงานการสะสมเงินเรื่อยๆ มีเงินซื้อบ้านที่เคหะที่ซอยรามคำแหง162 แกมีพื้นที่ใหญ่ขึ้น บ้านหลังนี้ราวๆ 42 ตารางวา คะน้า กวางตุ้ง ตำลึง ต้นอ่อนทานตะวันก็มาเลยจ้า”

เมื่อบ้าน“เสวันนา”มีขนาดใหญ่ขึ้นก็ยิ่งทวีด้วยพืชผักสวนครัวกว่าอีกเกือบเท่าตัว บ้านทั้งบ้านเต็มไปด้วยพันธ์พืชผักกว่า 30 ชนิด โดยมีทั้งที่หาซื้อทานได้ง่ายตามตลาดและที่หายาก จากวัตถุประสงค์เพื่อกินและใช้ในครอบครัวจึงขยายเป็นการให้แบ่งกับเพื่อนบ้านละแวกข้างๆ

คือปลูกแบบไม่เพียงพอกินยังพอเหลือให้เพื่อนบ้าน (ยิ้ม) เพราะพ่อมีหัวด้านนี้ก็ศึกษาจากในหลวง เป็นความชอบมีหลักพอเพียงที่ยึดเดินตาม ทำพอกินพอใช้แกตามชอบศึกษาดู

หลังมีความสุขกับการได้มีพอกินพอใช้และแบ่งปันสำเร็จตามหลักแนวความคิดก็ตรงกับช่วงวัยเกษียณอายุการทำงาน ลุงละมายก็ใช้เวลาอยู่กับบ้านและพอจะมีเวลาออกวิ่งเดินกำลังกายบ้าง ซึ่งนั้นทำให้แกพบกับพื้นที่รกร้างเต็มไปด้วยขยะบริเวณทางเดินเลียบคลองข้างหมู่บ้าน

อดีตชาวนากลางกรุงจึงหวนพุดไอเดียเกษตรกรกลางมหานครที่จะทำเป็นพื้นที่เกษตรตัวอย่างที่มีการผสมผสานให้เข้ากับชีวิตง่ายๆ โดยปัจจุบันสวนผักคุณตาเกษตรพอเพียงมีพืชผักกว่า 100 ชนิด ตั้งแต่ใต้ดิน คลุมดิน บนดินและเหนือดิน รวมเป็นถึง 4 ระดับขั้นด้วยกัน

มันเหมือนกับเราเคยปลูกผักสารเคมีมาทั้งชีวิต เราก็เลยอยากจะไถ่บาปที่เคยทำด้วยเกษตรอินทรีย์ เพราะมันดีและสามารถทำได้ไม่ยาก

เมื่อคิดได้ดังนั้น วิภาพรบอกว่ารุ่งขึ้นพ่อก็เดินแบกจอบตั้งแต่เช้าตี 5 มาปรับดินปรุงดิน เวลาค่ำถึงจะเดินเข้าบ้านพักผ่อนก่อนลุยงานต่อในวันต่อไปเป็นระยะเวลาเดือนๆ ตัวดำผิวไหม้เกรียม ท่ามกลางสายตาของคนที่ผ่านไปผ่านมาว่าบ้า

“ทำไปทำไมเหนื่อยเปล่า บ้าหรือเปล่าลุง” เธอเผยคำพูดของคนในละแวกหมู่บ้านที่พากันขบขันพ่อของเธอ “เรายังเคยไม่ไหวห้ามพ่อเพราะมันหลายครั้งแล้ว พ่อหยุดไหม อย่าทำเลยไหม มันเหนื่อยไหม เพราะแกเอาจอบจกดินจนมือแตก เราพอมีของเราแล้ว เราจะให้เขาดูถูกไปทำไหม พ่อก็ยิ้มรับไม่ได้สนใจตั้งหน้าตั้งตาทำ”

จากพื้นที่สี่เหลี่ยมเล็กๆ ขนาด1-2 ตารางวาก็ขยายจนกลายเป็นพื้นที่กว่า 300 ตารางวา เทียบเท่ากับบ้านทาวน์เฮาส์กว่าเกือบ 20 หลัง ซึ่งไม่ถึง 6 เดือนได้ออกดอกพิสูจน์ให้เห็นสิ่งที่ตาเฒ่าวัย 60 ทำถึงจะบ้าแต่ก็บ้าสร้างประโยชน์ให้ผู้คนในละแวกหมู่บ้านได้หยิบใช้สอยพืชผักฟรีๆ แถมในวันเสาร์ของทุกสัปดาห์ยังคำนึงถึงคนต้นหมู่บ้านที่มาเก็บผักฟรีไม่สะดวกขนเก็บผักนำมาวางจำหน่ายแบ่งปั่นเพียง 5 บาทสำหรับทุนพัฒนาแปลงผักต่อ

ตอนนี้ก็10 กว่าปีด้วยกันแล้ว คนที่เคยดูถูกกลับมาขอโทษที่วันนั้นดูถูกว่าลุงบ้ามาทำโน้นนี้นั้น เขามาขอโทษบอกลุงทำให้ผมเห็นแล้ว (ยิ้ม) พ่อจะบอกเสมอว่านายหลวงร.9 พระองค์ท่านลำบากกว่าเราเยอะเลย ลูกเห็นไหม ในสื่อที่เขานำเสนอในสิ่งที่เห็น นั้นแหล่ะ ท่านไปทุกที่ ท่านโดนทุกอย่าง ยิ่งกว่าเราอีก แล้วทำไมโดนคนว่าบ้าแค่นี้พ่อจะทนไม่ได้ ทำไม่จะต้องล้มเลิกกลางคัน พ่อจะเดินตามรอยพ่อหลวงตลอด”

สวนผักคุณตาเกษตรพอเพียงในวันนี้ปี พ.ศ. 2563 ทิศทางในอนาคตของได้อยู่ในมือของ วิภาพรลูกสาวเป็นผู้ถือไม้ต่ออย่างเต็มตัว เธอผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรมหานครอย่างคุณพ่อ โดยมีเป้าหมายจะกลับไปพัฒนาพื้นที่บ้านนาที่จ.อุตรดิตถ์ เป็นตัวอย่างสำหรับคนในต่างจังหวัดได้ทำกินและประกอบอาชีพ

เราถูกสอนมาให้แบ่งปันและพอเรามาทำเราก็สนใจเรียนศึกษาเกษตรอินทรีย์อย่างจริงจัง เราเรียนไปเรื่อยๆ เราก็เรียนถึงหลักกสิกรรมธรรมชาติมันก็ต่อยอดไปหลักบันได 9 ขั้น ที่นายหลวงท่านทรงสอนแบบเดียวกับพ่อที่ท่านศึกษา ตอนนี้เราพอกิน พอใช้ พออยู่ร่มเย็น ทำบุญทาน เก็บรักษา ค้าขาย ก็เหลืออย่างเดียวคือการทำเครือข่าย”

และผลงานแรกเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2561 ที่ผ่านมาเธอได้ลงมือพัฒนาแหล่งน้ำส่วนตัวปลอดสารเคมี การเลี้ยงไก่ไข่ ไก่พันธ์ และเพาะพันธุ์เมล็ดไม่ตัดแต่งพันธุ์กรรมแจกจ่ายฟรีให้กับผู้คนที่สนใจเพื่อนำไปใช้ปลูกเพื่อการค้าและอุปโภคบริโภค

ตอนนี้เรามีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ในเรื่องผลผลิต อยู่กทม.มีโอกาสก็ช่วยเอาผลิตภัณฑ์ต่างจังหวัดมาเป็นเซ็นเตอร์ในการช่วย ตั้งเพจเฟซบุ๊ก ‘สวนผักคุณตาเกษรพอเพียง’ ในการจำหน่ายโดยเฉพาะ มีทำให้ดูการแปรรูปผลผลิตแปรรูปอย่างมะนาวโห่ แช่อิ่ม เชื่อม ตอนนี้ก็มีโครงการต่อยอดกลับไปบ้านเกิดที่นาที่ดินที่ทิ้งมา เอาหลักเป็นนี้เป็นตัวอย่างให้เกษตรกรเขานำไปปรับใช้กันทั่วประเทศ

เพราะที่บ้านเรามีพื้นที่ซึ่งในอนาคตเราอยากเป็นเหมือนกับจุดแบ่งปันให้คนกทม.แบบนี้ เป็นแหล่งอาหารปลอดภัย เพราะว่าผักที่เป็นอินทรีย์ปลอดสารเคมีไม่ได้หาได้ง่ายๆ ในราคาไม่แพง พอเรามองเห็นศักยภาพสิ่งที่เราทำตรงนี้เป็นต้นแบบที่เราทำสำเร็จแล้ว” และนี่ก็คือเรื่องราวของเกษตรกรมหานครที่ใครๆ ก็หาว่าบ้า ก็ยอมรับความบ้า แต่วันนี้กาลเวลาได้เป็นตัวพิสูจน์ผลงานที่ผลิดอกออกผลเปล่งประกายไม่เพียงตัวเขาหรือครอบครัวเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่คนรายรอบใกล้ตัวยังได้รับการแบ่งปันอีกด้วย