Saturday, 27 July 2024

ผักตบชวา “เปลี่ยนจากวัชพืชให้เป็นปุ๋ย” ลดต้นทุน ลดวัชพืช เพิ่มรายได้

ผักตบชวา เป็นพืชที่มีระบบรากฝอยจำนวนมาก จึงดูดซับแร่ธาตุต่างๆ จากตะกอนในน้ำเก็บไว้ในส่วนลำต้นและราก เฉลี่ยมีปริมาณไนโตรเจนไม่น้อยกว่า 1% ฟอสฟอรัส 0.25% และโพแทสเซียม 4% ส่วนโลหะหนักในผักตบชวา พบว่าต่ำกว่ามาตรฐาน นอกจากนี้ ผักตบชวายังมีสัดส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจน 30:1 จึงกล่าวได้ว่า ผักตบชวา จัดเป็นวัสดุที่ย่อยสลายง่าย มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการทำปุ๋ยหมัก ดังนั้น กรมพัฒนาที่ดิน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จึงแนะนำให้นำผักตบชวาที่ขุดลอกจากแหล่งน้ำมาใช้เป็นวัสดุในการทำปุ๋ยหมัก โดยใช้ผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ เช่น สารเร่งซุปเปอร์ พด.1 และ พด.1 ช่วยในการย่อยสลายและลดกลิ่นเหม็น

กรมชลประทานเปิดอบรมเกษตรกร ทำปุ๋ยอินทรีย์ผักตบชวา ช่วยลดวัชพืช-เพิ่มรายได้ให้คนในท้องถิ่น โดยการเปลี่ยนวัชพืชให้เป็นปุ่ย โดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม แถมมีสร้างารายได้เพิ่ม

เมื่อวันที่ 26 ก.ย. 63 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานเปิดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการแปลงสภาพผักตบชวาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ (พลังง้วนดิน) ในเขตสำนักงานชลประทานที่ 12 เปิดเผยว่า ผักตบชวา นับเป็นวัชพืชที่มีการแพร่พันธุ์และเติมโตได้อย่างรวดเร็วในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งเป็นปัญหาและอุปสรรคในการระบายน้ำ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาจังหวัดชัยนาท พื้นที่รับน้ำจากทางตอนบนของประเทศแห่งสุดท้ายก่อนปล่อยน้ำให้ไหลลงสู่ทะเล ด้วยเหตุนี้เองในแต่ละปีมักจะพบผักตบชวาและวัชพืชสะสมบริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ประมาณ 80,000 – 100,000 ตันต่อปี

กรมชลประทาน จึงได้จัดโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ หลักสูตรการแปลงสภาพผักตบชวาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ (พลังง้วนดิน) ในเขตสำนักงานชลประทานที่ 12 จำนวน 3 รุ่น ประกอบด้วย รุ่นที่ 1 จัดขึ้นในวันเสาร์ ที่ 26 กันยายน 2563 บริเวณโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าพระยา รุ่นที่ 2 จัดขึ้นในวันอาทิตย์ ที่ 27 กันยายน 2563 บริเวณโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสามชุก และรุ่นที่ 3 จัดขึ้นในวันจันทร์ ที่ 28 กันยายน 2563 บริเวณโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษายางมณี มีผู้เข้าร่วมอบรมรุ่นละ 50 คน

สำหรับเทคโนโลยีเกษตรสรรพสิ่งอะตอมมิคนาโน (พลังง้วนดิน) จะใช้สิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น พืชผัก ปุ๋ยคอก ดินโคลน รำอ่อน ฯลฯ เรียกรวมว่า “สรรพสิ่ง” เพราะเป็นวัสดุที่หาได้รอบตัว แม้แต่ต้นไม้ใบหญ้าหรือเศษของเหลือจากการเกษตร นำมาใช้ผสมตามสูตรที่คิดค้นขึ้น เพื่อใช้ในการเกษตรตั้งแต่การนำมาปรับปรุงดิน บำบัดน้ำ เป็นปุ๋ย เป็นอาหารสัตว์ ดูดอากาศพิษ ไล่แมลง แล้วแต่การผสมสูตร

ดังนั้น การทำเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีสรรพสิ่งอะตอมมิคนาโน หรือ ง้วนดิน เป็นการนำเอาวัตถุดิบจากธรรมชาติมาผสมกัน แล้วนำไปหมักให้เกิดจุลินทรีย์และแพลงตอนที่เป็นประโยชน์ต่อดิน พืช และสัตว์ ลดต้นทุนของเกษตรกรได้มากกว่า 80% ในพื้นที่เท่าๆ กัน เกษตรกรที่ใช้เกษตรสรรพสิ่งอะตอมมิคนาโนจะมีต้นทุนต่ำกว่า และมีรายได้ที่มากกว่าอย่างเห็นได้ชัด

ขอบคุณข้อมูล
https://www.thailandplus.tv/archives/223239