Friday, 26 July 2024

ชันโรง หรือ ผึ้งจิ๋ว สุดยอดแมลงผสมเกสรพืช “แมลงเงินล้าน!”

วันนี้เฟจธรรมะเกษตรก้าวหน้า มีอีกหนึ่งอาชีพมาแนะนำ “ทำในสิ่งที่รัก แล้วจะสำเร็จ” คุณนพเชื่อว่าการทำอะไร ต้องมีใจรัก แล้วสิ่งนั้นจะสำเร็จ คำตอบนี้ชัดขึ้นเมื่อคุณนพทำชันโรง เพราะคุณนพทำด้วยความรัก เอาใจใส่ จริงจัง มุ่งมั่น จนสร้างอาชีพ สร้างฐานะ ได้จากชันโรงอย่างแท้จริง

ความสุขของคุณนพและคุณฝ้ายในวันนี้คือได้ทำในสิ่งที่รัก แล้วก็เราอยากนำสิ่งที่รักไปเผยแพร่ให้คนอื่นได้ดู ได้รู้ ได้ศึกษา ว่าสิ่งที่เขาทั้งคู่ทำประสบความสำเร็จได้จริง เขาไม่ใช่รู้แค่ งู ๆ ปลา ๆ แต่สามารถทำได้จริง มีผลิตภัณฑ์ขาย มีของขาย เพียงแค่นี้ก็มีความสุขมหาศาลแล้ว

นอกจากนั้น ความสุขของทั้งคู่อีกอย่างหนึ่งคือ ความสุขในการที่ได้อยู่กับธรรมชาติ สำหรับเขาทั้งสอง ธรรมชาติให้ความร่มเย็น ให้ความความสดชื่น ถ้าอยู่กับธรรมชาติ ไม่ต้องติดแอร์ใช้พัดลมก็เย็นสบายแล้ว สำหรับเขา ธรรมชาติให้พลัง ทำให้สดชื่นกระปรี้กระเปร่า เขามีความสุขมากที่ได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ

ไม่ว่าจะทำอะไร สิ่งแรกที่ต้องมี คือ ใจรัก และสิ่งที่ตามมาคือความอดทน ความขยัน และที่สำคัญ ต้องไม่ท้อ ต้องมีความพยายาม มุมานะ ไม่ว่าใครจะว่าอะไร อย่าไปกระทบกระทั่งกับเขา ให้นิ่ง เพราะคุณนพ เริ่มงานนี้ด้วยความไม่เข้าใจกับครอบครัว ไม่ว่าใครจะพูดอะไร ใช้ความนิ่งเป็นอาวุธสำคัญ

และสิ่งสำคัญที่คุณนพยึดถือไว้เป็นแนวทางเลย คือ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อทำตามแล้ว รับรองว่าไม่มีจน มีแต่เจริญขึ้นแน่นอน

คุณนพเก้า ใจสมุทร เกษตรกรเลี้ยงชันโรง อายุประมาณ 32 ปี ก่อนที่จะมาเลี้ยงชันโรง คุณนพรับจ้างทั่วไป รับจ้างโน้นรับจ้างนี่ ทำทุกอย่าง ไม่ว่าจะขี่ซาเล้ง ขายของตลาดนัด ตามโรงลิเก แต่ภายหลังมานึกถึงสิ่งที่เคยทำมาตั้งแต่เด็ก และคิดว่ามันน่าจะสร้างเป็นอาชีพได้เพราะเห็นแล้วว่านํ้าผึ้งของชันโรงมันมีมูลค่า ก็กลับมาทำ พอทำได้สักพักหนึ่งก็หยุดทำ แต่มีอยู่วันหนึ่งคุณนพฝันเห็นในหลวง ร.9 ก็เลยทำให้หวนคิดสู้ใหม่ ทำใหม่ จึงได้มาทำชันโรงเต็มตัว

ตอนเด็ก ๆ ชั้นอนุบาล ประถม คุณนพสนใจผึ้งโพรง เลี้ยงแบบเล่น ๆ ก่อน เลี้ยงแบบชาวบ้าน แล้วมาต่อยอดจากผึ้งโพรงไม่กี่ลังก็แยกเป็น 100 ลัง หลังจากนั้นเริ่มมาสนใจชันโรง เขาสนใจพวกผึ้ง พวกแมลงมาตั้งแต่เด็ก ชอบเวลาผึ้งผสมเกสร เขาจะเก็บเกสรที่ขาสองข้าง คุณนพชอบตรงที่มันมีหลากสี ตั้งแต่นั้นมาก็ชอบเลี้ยงชันโรง แล้วศึกษาเองทั้งหมด ใช้ความละเอียด ความตั้งใจทำในสิ่งที่ชอบ แล้วมันก็ให้ความสุขด้วย

ส่วนการเลี้ยงจริงจังนั้น เริ่มเมื่อ 4-5 ปีที่ผ่านมา ตัวชันโรงมีความเด่นในการผสมเกสรดอกไม้ ทำให้ดอกไม้ติดผลผลิตดี หากเอาไปผสมเกสร ก็จะได้นํ้าผึ้งได้ตัวที่ชัน พวกนี้จะขายได้หมดเลย เกสรก็ขายได้ อุปกรณ์การเลี้ยงก็ขายได้ ในการเลี้ยงคุณนพลองทำเองหมด ทดลองทำโน่นดูนี่ดู แล้วได้ความรู้จากประสบการณ์โดยตรง แทบไม่เคยไปศึกษาที่ไหนเลย เขาใช้วิธีดูพฤติกรรมของตัวชันโรง แล้วเอามาปรับเพื่อให้เลี้ยงดูได้อย่างเหมาะสม

การเลี้ยงชันโรงนั้น พื้นที่ของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป บางคนจะใช้สารเคมีบ้างไม่ใช้บ้าง แต่พื้นที่ที่ดีที่สุดก็คือไม่ใช้สารเคมีเลย เพราะว่ามันจะไม่ส่งผลกับชันโรงโดยตรง บางคนเอาไปเลี้ยงจะได้รอด ยิ่งไม่ใช้สารเคมีชันโรงจะโตเร็วมาก แต่คนที่ใช้สารเคมีชันโรงเขาจะมีประสาทที่สัมผัสได้กับสารเคมี เช่นถ้าเราฉีดสารเคมีตรงไหน ชันโรงเขาจะเบี่ยงเส้นทางไป เขาจะไม่เข้าไปยุ่ง แต่ว่าถ้าฉีดมากเกินชันโรงก็ตายได้ ชันโรงเขาจะมีการป้องกันรังด้วยยางไม้ ด้วยโพรพอลิส ยางไม้มีอยู่ 2 แบบ คือ ยางเอามาสร้างถ้วยนํ้าหวาน ถ้วยเกสร ถ้วยไข่ และยางป้องกัน ชันโรง มีการป้องกันรังค่อนข้างจะดี ตรงไหนมีชันโรงอยู่ตรงนั้นจะไม่มีรอยรั่ว สมมุติว่าเรามีกล่อง ถ้าชันโรงเข้าไปอยู่ ทุกจุดชันโรงจะอุดหมด เขาจะปิดช่องโหว่ตรงรอยแตกหมดเลย

สภาพแวดล้อมในการเลี้ยงชันโรงนั้นต้องมี 1. ความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ บริเวณนั้นไม่มีสารเคมี ระบบนิเวศน์ต้องได้ด้วย ทั้งนํ้าและต้นไม้หลากหลายชนิด ไม่ใช่แค่เชิงเดี่ยว และอย่าลืมว่าชันโรงสร้างรังจากยางไม้ เพราะฉะนั้นต้องปลูกต้นไม้ที่มียาง มีนํ้าหวาน มีเกสร พวกนี้จะช่วยให้รังดีขึ้น สมบูรณ์ขึ้น

ส่วนการเลี้ยงชันโรงนั้น เบื้องต้นต้องทำรังล่อก่อน คือไปสำรวจก่อนว่าบริเวณนั้นมีชันโรงไหม มีการสร้างรังตรงนี้ไหม แล้วก็รังไปเอาล่อ ใส่ฟีโรโมนดักเลย การดักฟีโรโมนนี้ต้องดักห่างจากรังเขา เขาถึงจะเข้า ถ้าเอารังล่อไปจี้เขา เขาจะไม่เข้า แล้วต้นทุนก็มีไม้ไผ่ เอามาตัดเป็นบ้อง เจาะรู แล้วเอาไปดักได้เลย พอชันโรงเข้าไปแล้ว ต้องดูเวลาว่านางพญาวางไข่หรือยัง หรือนํ้าหนักขวดที่เราเอาไปดักตอนแรกมันจะเบา ถ้าเราเอาไปดักแล้วลองยกดู ถ้ามันมีไข่เยอะแล้ว นํ้าหวานเยอะแล้ว มันจะหนักขึ้น 1 เดือนให้เอาขวดที่มีชันโรงอยู่ในนั้นมาผ่าดู พอผ่าเสร็จก็เอามาตั้งในกล่องไม้ แล้วปล่อยให้เขาขยาย แล้วก็เก็บนํ้าหวาน เก็บได้หมดเลย แยกขยายได้เลย พอลงกล่องไม้แล้ว การแยกขยายนี้ต้องเตรียมกล่องพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ จะมีกล่องเปล่ากล่องหนึ่ง แล้วก็กล่องพ่อ กล่องแม่ ก็แยกเอาไข่นางพญาออกจากกล่องแม่ แล้วไปเอาไข่ชันโรงงานจากกล่องพ่อมาใส่ไว้ตรงกลาง มารวมในกล่องเดียวกัน แล้วตัดเอาชันใส่ไป เอานํ้าผึ้งกับเกสรใส่ลงไป เพราะว่านํ้าผึ้งกับเกสรเป็นอาหารให้ตัวชันโรง ส่วนตัวชันที่ใส่ลงไป เขาจะได้ไม่ต้องไปหารังใหม่ไม่ต้องไปหายางไม้มาเพิ่ม เพราะเขาจะใช้ยางไม้ตรงนั้นมาอุดรัง พูดง่าย ๆ คือ เขาสามารถสร้างรังใหม่ได้ในเวลาอันรวดเร็ว

ชันโรงตระกูลเดียวกับผึ้ง แต่ชันโรงไม่มีเหล็กใน ชันโรงเป็นแมลงที่อ่อนโยนกว่าแมลงอื่นทั่วไป เพราะว่าไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร นอกจากทำให้เขาโกรธเขาถึงมาทำร้ายเรา ถ้าเขาอยู่ของเขาปกติเขาจะไม่ต่อยไม่กัด และกัดก็ไม่เจ็บ จะเจ็บนิด ๆ หน่อย ๆ

การมีอยู่ของชันโรงช่วยผสมเกสร ทั้งไม้ผล ไม้ป่า พืชสมุนไพรทั่วไป ชันโรงมีข้อดีหลายอย่างคือการผสมเกสรนี้เขาจะลงนิ่ม เขาจะบินร่อนเหมือนคอปเตอร์ แล้วจะลงมาตอมดอกแบบนิ่ม ๆ ทำให้ผลไม้ที่คนปลูกจะสวย จะกลมสวย จะไม่แกรน ถ้าบริเวณนั้นมีชันโรงน้อย มีแมลงผสมเกสรน้อย มันก็จะแกรนบ้างอะไรบ้าง แล้วตัวชันโรงมีข้อดีคือ ตัวชัน ตัวโพรพอลิส ตัวยางไม้ ยาจะอยู่ในนั้นเยอะมาก มีสารออกซิเดนท์ สารฟลาโวนอยด์ สารต้านอนุมูลอิสระอยู่ในตัวชัน อยู่ในตัวโพรพอลิส มีสารต้านเซลล์มะเร็งด้วย ความรู้นี้คุณนพไปเอาผลวิจัยมาจากทางประเทศมาเลเซีย ทางไทยยังไม่เปิดสักเท่าไร

ชันโรงมี 30 กว่าสายพันธุ์ มีสีส้ม สีแดง ดำ แล้วก็ปลายปีกขาว ชันโรงมี 2 ตระกูล คือ 1. ตระกูลที่ใช้ยางไม้มาสร้างรังเขาจะเป็นยางทั่วไป เช่น ยางขนุน 2. ยางชนิดแข็งเหมือนยางไม้พะยอม ยางที่ไม้แข็ง ๆ ไม้ในป่ามันจะเป็นผลึกแก้ว รังจะสวยมาก แต่ที่นี่คุณนพไม่ได้เอามาไว้ เพราะว่าเป็นสายพันธุ์หายาก เป็นผลึกแก้ว รังจะเป็นสีส้มเลย สวยมาก เขาเรียกสายพันธุ์คริสตัล อยู่ในพวกตระกูลที่รังเป็นผลึก อีกฝั่งหนึ่งก็จะเป็นยางยืดเหนียว ๆ ติดมือ แต่พันธุ์ที่คนนิยมเลี้ยง จะเป็นขนเงิน กับหลังลาย พวกนี้จะทนมาก เลี้ยงได้ทั่วประเทศ แต่นํ้าผึ้งจะมีออกหวานเปรี้ยว ขมหน่อย ๆ แต่สายพันธุ์ที่คุณนพเลี้ยงจริง ๆ ในเชิงธุรกิจ นี้จะเน้นไปทางตัวใหญ่หน่อย พวกนี้จะให้นํ้าหวานเยอะ แต่เหมือนสายพันธุ์ตัวเล็กเขาก็นิยมเลี้ยง เลี้ยงแบบพอเพียงที่ว่ามีนํ้าผึ้งแค่นี้ ก็ขายแค่นี้ชาวบ้านเขาเลี้ยงกันแบบนี้

นํ้าผึ้งที่ได้มาจะเอามาหมักไว้ก่อน ข้อดีของนํ้าผึ้งชันโรงคือมันจะกำจัดสิ่งแปลกปลอม ลองทดลองเอานํ้าผึ้งชันโรงมาผสมกาแฟ ทั้งกาแฟสด และกาแฟผสมแล้ว ถ้าใส่นํ้าผึ้งลงไปในกาแฟที่ผสมแล้วพวกคอฟฟี่เมต ไขมัน มันจะดันขึ้นหมดเลย มันจะกรอง แล้วก็ดันพวกเศษที่เป็นตะกอนขึ้นหมด เหลือแต่กาแฟสดอยู่ข้างล่าง อันนี้คือข้อดีของนํ้าผึ้งชันโรง

ส่วนเรื่องราคาต่างจากนํ้าผึ้งทั่วไปมาก ราคานํ้าผึ้งธรรมดาก็ 100 – 500 บาท ถ้าเป็นนํ้าผึ้งชันโรง 1 ลิตร 1,500 บาท และขึ้นกับสายพันธุ์ด้วย

ชันโรงที่ดีควรมีลักษณะ ขยันหากิน ถ้าขยันหากินมันจะโตเร็ว แต่ดีไม่ดีขึ้นอยู่กับแหล่งอาหารด้วย ถ้าแหล่งอาหารน้อย ก็จะตีกัน แย่งกันไปแย่งกันมา จะไม่โต แต่ถ้ามีแหล่งอาหาร ปลูกเสริมให้เขา อย่างที่คุณนพทำคือ จะขายต้นไม้อื่น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเป็น รักแรกพบ ฟอร์เก็ตมีน็อต ทองอุไร ม่วงส่าหรี ม่วงมงคล กุหลาบ บัว เหล่านี้จะเป็นพืชเสริมให้กับชันโรง ยิ่งเลี้ยงเยอะต้องใช้พื้นที่เยอะ

การเลี้ยงชันโรง ไม่ต้องให้อาหารเลย เขาออกหากินเอง ไม่เหมือนผึ้งพันธุ์ ผึ้งพันธุ์ช่วงที่ไม่มีดอกไม้ต้องให้นํ้าตาล แต่สิ่งที่ต้องมีคือ นํ้าสะอาดหรือนํ้าสวน เกสรจากดอกไม้ แล้วก็นํ้าผึ้งจากดอกไม้ สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือยางไม้ เพราะชันโรงใช้ยางไม้ในการสร้างรัง ถ้าชันโรงขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปใน 4 อย่างนี้ เขาจะอยู่ไม่ได้ เขาจะตาย แต่บางคนเอาเขาไปเลี้ยงไม่เข้าใจ คนขายก็ไม่ได้บอกองค์ความรู้ว่าควรจะเอาไปเลี้ยงตรงไหน เลี้ยงในที่ร่มหรือในที่แจ้งโดนแดด สิ่งที่สำคัญคือความรู้สำหรับคนเอาไปเลี้ยงต่อ เพราะว่าเอาไปเล้วไม่มีความรู้ในการเลี้ยงชันโรงก็ตาย เขาจะชอบอากาศแบบร้อนชื้น อากาศชื้นๆ แล้วมีนํ้าในบริวเณนั้น ส่วนตอนเก็บ เวลาเช้าดีที่สุด พอเราเสร็จแล้ว ต้องให้เวลาเขาสร้างรังใหม่ด้วย

โรคภัยของชันโรง คือ โรคเลือดชิด ชันโรงจะออกมาขาบิดเบี้ยวบ้าง ปีกบินไม่ได้ ตัวเล็กลง ตัวบิดงอ แต่ตัวที่เป็นศัตรูของมันจริง ๆ คือ มวลเพชฌฆาต ตัวที่ดูดนํ้าเลี้ยงมะนาว มันจะมีอีกตัวหนึ่งกินชันโรงโดยเฉพาะเลย มาเฝ้าหน้ารัง จะคอยมาดูดนํ้าเลี้ยงชันโรง ขาหน้าจับดูดเลย อันนี้อันตราย แล้วก็มีจิ้งจก ตุ๊กแก แต่ชันโรงฉลาดตรงที่เขาสามารถสร้างทางเข้าออกให้ยาวออกมาได้ เช่น จิ้งจกเกาะตรงนี้ ถ้ามันจะมากินชันโรงมันจะต้องเดินบนทางชันโรงใช่ไหมครับ แล้วบนทางชันโรงชันเหนียว ๆ มันเกาะอยู่ มันติดอยู่แล้วก็ตาย

ตลาดหลัก ๆ เลย 95% จะอยู่ทางออนไลน์ อีก 5 % จะไปออกบูธตามงานต่าง ๆ และจะมีเดินเข้ามาซื้อที่สวนบ้าง
ช่องทางออนไลน์มีทั้ง เฟสบุ๊ค ไลน์แอด อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ยูทูป เรียกว่ามีทุกช่องทาง และกลุ่มลูกค้าจะเป็นวัยทำงานขึ้นไป มีวัยรุ่นหรือนักศึกษาบ้าง

แหล่งอ้างอิงข้อมูล
นพเก้า ใจสมุทร / อุไรวิมล วังบุญ (สวนษิริจันทร์) 21 หมู่ 1 ตำบลบึงชำอ้อ อำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี 12170

เรียบเรียงโดย ธรรมะเกาตรก้าวหน้า