Saturday, 27 July 2024

จากหนุ่มเด็กดอย อาศัยในเพิงเล็กๆสู่ทนจนสอบชิงทุนอาชีพทนายความ เพื่อให้ครอบครัวสุขสบาย

วันนี้จะพาทุกคนไปชมชีวิตของเด็กดอยท่านหนึ่ง ที่ต้องสู้กว่าคนอื่น 2 เท่า เพื่อหวังพาครอบครัวหลุดพ้นความลำยาก แม้จนสอบชิงทุนเรียนนิติศาสตร์ ฝันเป็นทนายความนำความรู้ช่วยคนในหมู่บ้าน

ปี ปานคำ” หนุ่มวัย 30 ปี ชาวอ.ฝาง จ.เชียงใหม่ ลูกคนเล็กของบ้าน ย้อนความทรงจำให้ฟังว่า พ่อแม่เป็นชนเผ่าไทใหญ่มีอาชีพรับจ้างหาเลี้ยงลูกทั้งหมด 7 คน เพราะท่านทั้ง 2 ไม่เคยมีโอกาสได้เรียนหนังสือ ความจนทำให้พี่ ๆ 5 คนแรกเสียสละให้น้อง 2 คนสุดท้อง คือ ตัวปี และพี่สาว ได้ร่ำเรียน โดยอาศัยในเพิงเล็ก ๆ ที่เรียกว่าบ้านบนดอย ซึ่งนี่แหละคือโรงพยาบาลที่หมอตำแยใช้ทำคลอดให้พวกเขาเติบโตมาถึงทุกวันนี้ ตอนเด็ก ๆ ชีวิตผมโตมาในพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดารมาก ๆ ผมย่อมเข้าใจในสิ่งเหล่านั้นแทบทั้งหมด การแบ่งปันสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ในวันนี้ เป็นสิ่งที่ผมควรทำ คือการเติมเ ต็มความสุขที่ยิ่งใหญ่ให้กับเด็ก ๆ ในหมู่บ้าน” ปี กล่าว

หนุ่มปีได้เล่าต่อว่า “ก็ตามประสาเด็กบ้านนอกครับ ตัวผอม ๆ แห้ง ๆ จับปูหาปลามากินประทังชีวิต พ่อแม่สอนให้เรียนรู้ ส่วนพี่ ๆ ก็ต้องแยกย้ายไปทำงานต่างถิ่น เลือกที่จะต่อสู้และไปมีครอบครัว ในบ้านจึงเหลือเพียง 4 คนครับ ผมก็เลยคิดว่าเราต้องเรียนให้สูง ๆ เพื่อนำความรู้มาพัฒนาความเป็นอยู่ของครอบครัว บางทีพ่อแม่ไม่มีเงินก็อาศัยขอเพื่อนที่โรงเรียนกินข้าว เพราะครอบครัวเราไม่มีกินจริงๆ”

สายอาชีพวิชาช่างยนต์ คือสิ่งที่หนุ่มน้อยวัย 15 ปีเลือกเรียนในระดับ ปวช. ที่วิทยาลัยการอาชีพฝาง แต่มีจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญที่ชีวิตหักเหเลือกสอบเข้าคณะครุศาสตร์ สาขาวิชาพลศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ แต่ด้วยตำราชีวิตเล่มนี้ถูกกำหนดด้วย 2 มือของเขา จึงออกแบบและเปิดประสบการณ์ ตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เรียนคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยสมัครชิงทุนนักกีฬาฟุตบอลได้สำเร็จ หวังให้ตำราชีวิตของตัวเองให้ประโยชน์แก่ผู้อื่น นำความรู้ทางด้านกฎหมายไปช่วยเหลือคนในหมู่บ้านที่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากกลุ่มนายทุนและผู้มีอิทธิพล

เขากล้าพูดอย่างเต็มปากว่า “จริง ๆ ผมไม่รู้จักกรุงเทพฯ เห็นครั้งแรกก็ร้องอ้อ…หน้าตาเป็นแบบนี้เองเหรอ ผมยอมเหนื่อยกว่าคนอื่น 2 เท่าเพื่อฝึกซ้อมพัฒนาร่างกาย ว่างจากเรียนหนังสือก็ไปหางานทำเป็นเด็กเสิร์ฟ ตลอด 4 ปีผมใช้เงินอย่างประหยัด ไม่นั่งแท็กซี่ แต่นั่งรถเมล์ 8 บาท และไม่เคยขอเงินพ่อแม่เลย เพราะมันคือโอกาสพิสูจน์ตัวเอง และโชคดีที่มีเพื่อนที่มาหางานทำที่กรุงเทพฯ ช่วยแชร์ค่าห้อง ทำให้จากเด็กขี้อายวันนั้น แค่ออกไปยืนหน้าเสาธงก็ร้องไห้แล้ว กล้าคิด กล้าฝัน กล้าทำ กล้าลงมือที่จะกำหนดชีวิตที่ดีกว่า”

แน่นอนว่าการใช้ชีวิตในเมืองหลวงไม่ใช่เรื่องง่าย บางครั้งท้อ ร้องไห้ เหนื่อยล้าเหลือเกิน เหงา คิดถึงบ้าน อยากกลับไปกอดพ่อแม่ให้ชื่นใจ แต่ไม่สามารถทำได้ เพราะ 1-2 ครั้งเท่านั้นที่จะได้กลับบ้าน เขาจึงเลือกสร้างแรงบันดาลใจ ไหน ๆ ก็ก้าวออกจากบ้านแล้ว มองกลับไปข้างหลังดูว่า พี่ ๆ เสียสละมากแค่ไหน แม้พวกเขาไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ก็พยายามอ่านและเขียนภาษาไทย แล้วทำไมตัวเขาเองจะทำไม่ได้

ขณะที่ทางบ้านนั้น พ่อกับแม่และพี่ ๆ ก็ทำงานเก็บเงินตลอด 10 ปี จนสามารถซื้อที่ดินได้ 3-4 ไร่ทำสวนส้ม ปัจจุบันมีมากถึง 20 ไร่ มีบ้านเป็นของตัวเอง ไม่ต้องไปอาศัยเพิงเล็ก ๆ หรือเช่าบ้านคนอื่น เพราะที่ดินต่างจังหวัดสมัยนั้นก็ไม่ได้แพงมาก แต่ก็ใช่จะหากันง่าย ๆ เพียงเงินหลักหมื่นพ่อแม่ก็ต้องแลกมาด้วยความลำบากอย่างที่สุด

วันที่เขาโทรบอกแม่กับพ่อ…หนูเรียนจบป.ตรี แล้วนะครับ แม่เขาถามกลับว่า “ป.ตรี คืออะไร…” มันเป็นคำถามที่เอ่อล้นไปด้วยความสุข เขาตอบแม่เพียงว่า “มากรุงเทพฯ พ่อกับแม่ก็รู้เองแหละครับ” รอยยิ้มที่ได้เห็นจากพี่ ๆ และกำลังใจจากพ่อแม่ ทุกคนเสียสละเพื่อน้องคนสุดท้อง ได้เห็นน้ำตาแห่งความดีใจ แต่ความสำเร็จนี้เป็นเพียงจุดสิ้นสุดของการเรียน ไม่ใช่จุดสิ้นสุดของเส้นทางชีวิต เพราะหนทางข้างหน้ายังมีอะไรให้บันทึกอีกมากมาย

ถ้าผมใช้สิ่งที่เรียนมาทำเพื่อตัวเอง ถามว่าดีไหมครับ มันก็ดีนะ แต่เราจะได้แค่ตัวเราถ้าเราทำเพื่อต่อยอดลมหายใจของครอบครัว พรากความสบายออกจากตัวเอง แต่ผลักความสุขความสบายให้คนอื่น แบบไหนกันครับที่ดีกว่ากัน ผมเลือกครอบครัว พ่อแม่ พี่ ๆ น่าจะเป็นสิ่งที่น่าตอบแทนมากที่สุด”

เขาใช้ความรู้ที่มีศึกษาและทำการตลาดใช้เป็นช่องทางกระจายบนโซเชียลฯ ขายส้มที่ได้จากไร่ของครอบครัวเขาเอง และเมื่อมีกินอิ่มท้องก็รู้จักแบ่งปันให้กับเด็กๆ ในหมู่บ้าน เพราะเขารู้ดีว่าเด็กที่ขาดโอกาส ถ้าได้รับการเติมเต็มชีวิต เขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีในอนาคตเช่นชีวิตเขาในปัจจุบัน และความหวังสูงสุดของเขาที่ต้องทำให้ได้ การเป็นทนายความ ซึ่งเขาสามารถสอบผ่านภาคทฤษฎี ขณะนี้กำลังขะมักเขม้นกับการสอบภาคปฏิบัติ และก้าวสู่ขั้นตอนการสอบปากเปล่า เพื่อไปให้ถึงจุดหมายที่ตั้งไว้ อาชีพทนายความ เพื่อช่วยเหลือและเป็นที่พึ่งของคนในหมู่บ้านชาวดอย

เขาได้ทิ้งท้ายแง่มุมของชีวิตที่เขาเป็นถูกบันทึกมาโดยตลอดว่า “คนเราไม่มีใครสูงส่ง ไม่มีใครต่อยต่ำ อย่าดูถูกมนุษย์ซึ่งกันและกัน ให้เกียรติชีวิตเขา แบบที่เขาให้เกียรติชีวิตเรา เพราะเราทุกคนไม่สามารถเลือกเกิดในครอบครัวที่มีต้นทุนชีวิตที่เพียบพร้อมได้ ชีวิตคนเราแม้สถานะทางต้นทุนของชีวิต จะแตกต่างกันอย่างไร มันไม่สำคัญ เรานำสิ่งที่ขาดหายมาเป็นแรงผลักดันให้กับชีวิตของเรา ผมเชื่อว่าทุกคนสร้างมันได้ครับ”