Saturday, 27 July 2024

คุณอรรถ – อรรถกร เอี่ยมเจริญ วัย 29 ปี ทิ้งเงินเดือนหลักหมื่น สู่เกษตรออนไลน์ สร้างรายได้หลักล้านต่อเดือน

คุณอรรถ – อรรถกร เอี่ยมเจริญ ทำงานประจำสายโฆษณาตั้งแต่ยังไม่จบปริญญาตรี ใช้ชีวิตในเมืองใหญ่หลายปี แต่เหมือนไม่มีความสุข เลยตัดสินใจทิ้งเงินเดือนล่าสุดกว่าห้าหมื่นบาท กลับบ้านเกิด ก่อนผุดธุรกิจเกษตรออนไลน์ สร้างรายได้ให้เป็นอย่างดี ทั้งกับตัวเองและชุมชน คุณอรรถ – อรรถกร เอี่ยมเจริญ เจ้าของเรื่องราวครั้งนี้ ยินดีถ่ายทอดเรื่องราวหลายแง่มุมให้ เป็นสื่อกลาง อย่างเต็มใจ

คุณอรรถ ย้อนประวัติให้รู้จัก ปัจจุบันอายุ 29 ปี พื้นเพอยูอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี จบปริญญาตรี นิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ทำงานประจำในบริษัทเอเยนซี่โฆษณาตั้งแต่เรียนอยู่ปีสี่ เทอมสอง เงินเดือนเริ่มต้น 1.2 หมื่นบาท ทำอยู่ 4-5 ปี หน้าที่การงานเติบโตตามลำดับ ความรับผิดชอบล่าสุดดูแลการตลาดบนแพลตฟอร์มออนไลน์ ให้กับลูกค้ารายใหญ่หลายแบรนด์ เงินเดือนกว่าห้าหมื่นบาท

“ได้เงินเดือนเยอะก็จริง แต่ความรับผิดชอบก็สูงตาม แถมชีวิตในกรุงเทพฯ ค่าใช้จ่ายเยอะ จนบางครั้งเครียด หลังทำอาชีพเสริมอยู่พักหนึ่ง ตัดสินใจลาออก แม่บอกออกมาทำไม เ สี ย ดายเงินเดือนสูงๆ ทำงานในห้องแอร์ ชอบทำงานร้อนๆ ลำบากเหรอ ผมบอกว่า กลับบ้านมาทำแบบนี้ สบายใจกว่า ถึงรายได้น้อยแต่มีความสุข เพราะเอาความสุขเป็นที่ตั้ง” คุณอรรถ ว่าอย่างนั้น

ขอเล่าย้อนไปก่อนตัดสินใจลาออกจากงานประจำ คุณอรรถ เล่าว่า ตอนยังทำงานประจำ เขาทำอาชีพเสริมช่วงเสาร์-อาทิตย์ โดยนำกล้าไม้ที่พี่ชายปลูกไว้ พวก สักทอง มะค่าโมง ประดู่ป่า ฯลฯ มาอัพโหลด ใส่ราคา บอกขาย บนเพจที่สร้างขึ้นมา พอเย็นวันศุกร์กลับบ้าน ไปแพ็กกล้าไม้ตามออร์เดอร์ ถึงวันจันทร์ นำกล้าไม้ขนใส่รถเก๋งคันเล็กๆ มาตระเวนส่งให้ลูกค้าในกรุงเทพฯ ช่วงพักกลางวัน ทำอยู่เดือนกว่า ยอดขายแตะ 2 แสนบาท คิดว่าน่าจะไปได้ เลยลาออกมาทำเต็มตัว “คือ พี่ชาย เพาะกล้าไม้อยู่ก่อนแล้ว แต่ไม่ได้ทำออนไลน์ ผมเลยนำต้นกล้าพวกนี้ มาทำให้เติบโตในตลาดออนไลน์ ด้วยการเปิดเพจ มนทรี สวนป่า ได้ 3 ปี ปัจจุบันจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดแล้ว” คุณอรรถ บอกด้วยน้ำเสียงภูมิใจ

คุณอรรถ อธิบายถึงข้อดีของการนำสินค้าเกษตร ในแบบของเขามาทำการตลาดออนไลน์ให้ฟัง การเปิดเพจ สามารถเข้าถึงลูกค้าเป้าหมายได้ตรงจุด แอดมินเพจ สามารถเลือกการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า แบ่งตาม เพศ วัย อายุ หรือ ความสนใจของพวกเขาได้เลย สมมติ มีคนดูยูทูบเรื่องการปลูกต้นไม้ เดี๋ยวโฆษณาเพจของเขาจะไปเด้งในโซเชียลมีเดียของคนนั้นเลย ซึ่งเดือนๆ หนึ่ง แต่ละเพจของเขา จ่ายค่า “ยิงโฆษณา” ในเฟซบุ๊กเป็นเงินหลักแสน แต่ค่าตอบแทนก็คุ้มค่า

“ทุกวันนี้ มีออร์เดอร์วันละ 200-300 กล่อง จากหลายเพจ ทั้ง มะพร้าว ส้มโอ กล่องกระดาษ และ เพจหลัก มนทรี สวนป่า รวมแล้ว จ่ายค่ายิงแอด (โฆษณา) เดือนละ 3 แสนกว่าบาท สินค้าทางการเกษตร ในแบบของผม มีทั้ง ต้นกล้า ผลผลิตทางการเกษตร อย่าง มะพร้าว ส้มโอ และ อุปกรณ์แพ็กกิ้ง ทั้ง กล่องพัสดุ เทปกาว เรียกว่าอันไหนต่อยอดได้ก็ต่อยอดครับ” คุณอรรถ บอกยิ้มๆก่อนบอกต่อ ปัจจบันเป็น ยุคทอง ของการขายสินค้าออนไลน์ ใครที่จะเข้ามาตอนนี้ ขายอะไรก็ขายได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะสถานการณ์โควิด ด้วย ที่มาเซตระบบให้ธุรกิจทุกอย่างต้องมารันบนออนไลน์ คือ ถ้าใครไม่ปรับตัวก็จะแย่ ซึ่งในส่วนของเขานั้น เน้นที่แพลตฟอร์ม ลาซาด้า กับ เฟซบุ๊ก เท่านั้น

“สินค้าเกษตรออนไลน์ นับเป็นตัวอย่างที่ดีในยุคนี้ ที่ปรับตัวยังไงให้อยู่รอด เพราะถ้าขายหน้าร้าน ก็ขายได้แต่คนในพื้นที่กับละแวกใกล้เคียง แต่ถ้าขายออนไลน์ สามารถขายให้คนทั้งประเทศ และคุยกับกลุ่มลูกค้าตรงเป้าหมาย ที่กำลังสนใจของ ของเราอยู่” คุณอรรถ บอกอย่างนั้นและว่า เพจธุรกิจเกษตร ของเขาทำมาได้ 3 ปี จากยอดขาย 0 บาท ปัจจุบัน 3 ล้านบาทต่อเดือน และล่าสุดจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด มีการเสียภาษีถูกต้อง ซึ่งสินค้าเกษตร ได้รับการยกเว้นการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม

“ธุรกิจของผม มีความได้เปรียบเชิงพื้นที่ อธิยายให้เห็นภาพ คือ เราอยู่ราชบุรี แต่ถ้าอยากขายสตรอว์เบอร์รี่ ต้องตะเกียกตะกายไปถึงเชียงใหม่ ซึ่งต้นทุนแพงกว่าคนอื่น แต่เรามีของดีใกล้ๆ อย่าง มะพร้าวน้ำหอมดำเนิน ส้มโอ อัมพวา แหล่งกล้าไม้ใหญ่ที่เมืองกาญจน์ เรามองอันไหนมีศักยภาพต่อยอดได้ ก็นำมาทำเป็นโปรดักต์ของเรา” คุณอรรถ แจงให้ฟัง และบอกด้วยว่า ทุกวันนี้ธุรกิจการเกษตร ของเขามีทีมงานประมาณ 30 คน แต่ละคนทำงานที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ ทำหน้าที่แอดมินเพจ และรับออร์เดอร์ มีแค่ทีมแพ็กที่จะอยู่หน้างาน แพ็กของทุกวัน จันท์ร-เสาร์ ที่หน้าบ้านของเขาเอง

“ธุรกิจขยาย ไม่ใช่แค่ผมรอดคนเดียว แต่น้องที่เรียนออนไลน์ พวกเขาไม่มีรายได้ ผมจ้างมาวันละ 400-500 บาท ทำให้พวกเขาพอเลี้ยงตัว ผมอยากแชร์เรื่องราวเหล่านี้ ให้หลายคนเห็นว่า เราสามารถกลับมาบ้านเกิด มาสร้างงาน สร้างอาชีพ จึงอยากเห็นคนที่เก่งๆ มีศักยภาพกลับมาสู่พื้นถิ่น สร้างงาน สร้างอาชีพให้ชุมชนมีรายได้ เราอยู่ได้ ชุมชนก็อยู่ได้” คุณอรรถ เผยความตั้งใจ