Saturday, 27 July 2024

คนทำเกษตรควรรู้ การทำปุ๋ยน้ำหมักจากเศษอาหารเหลือใช้ในไร่สวน หรือครัวเรือน

เชื่อหรือไม่ว่าเศษอาหาร ผัก ผลไม้ ใบไม้ กิ่งไม้ ที่เหลือจากในครัวหรือในสวนมิได้เป็นเพียงขยะไร้ค่า หากแต่สามารถนำมาผ่านขั้นตอนกระบวนการเพื่อผลิตปุ๋ยใช้ได้ในราคาถูก ทำปุ๋ยจากเศษอาหาร นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะแล้วยังประหยัดเงิน (เหมาะกับสภาพเศรษฐกิจในช่วงนี้มาก) แถมยังทำให้ต้นไม้ในสวนเจริญเติบโตงอกงามได้ด้วยมือของคุณเอง

วัสดุที่ต้องเตรียม
1. เศษผัก เศษผลไม้ เศษขยะอินทรีย์ต่างๆ 3 ส่วน
2. น้ำตาล หรือ กากน้ำตาล 1 ส่วน
3. น้ำสะอาด หรือน้ำมะพร้าว 10 ส่วน

วิธีทำ
นำเศษผักผลไม้มาย่อยให้มีขนาดเล็ก แล้วนำน้ำตาลหรือกากน้ำตาลมาคลุกให้ทั่ว ทิ้งไว้สัก 1 คืน แล้ว เทน้ำลงไป หมักทิ้ง ไว้ 30 วัน ก็สามารถนำน้ำหมักนั้น ไปใช้ได้ โดยอัตราส่วนที่แนะนำ คือ น้ำหมัก 1ส่วน ต่อน้ำเปล่า 500-1000 ส่วน

คุณสมบัติ นอกจากมีธาตุอาหารที่ช่วยให้พืชเจริญเติบโตได้ดีแล้ว ยังมีคุณสมบัติช่วยเพิ่มจุลินทรีย์ในดิน ช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุให้กลายเป็นปุ๋ยสำหรับพืช ทำให้ดินร่วนซุย และพัฒนาการเจริญเติบโตของพืช
การใช้งาน ผสมน้ำหมัก 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 5 ลิตร ใช้ฉีดพ่นหรือรดลงในดินสัปดาห์ละครั้ง

1. หากผสมสมุนไพร เช่น สะเดา ตะไคร้หอม ยาสูบ ดีปลี หรือพริกขี้หนู โดยใส่ผงสมุนไพร 2 – 5 ช้อนโต๊ะลงไปในส่วนผสมของขั้นตอนการหมักปุ๋ยอินทรีย์น้ำแต่แรก จะสามารถใช้เป็นสารไล่แมลงได้ด้วย
2. สามารถใช้ปุ๋ยอินทรีย์น้ำในการบำบัดน้ำเสียและกำจัดคราบไขมันอุดตันในท่อ โดยใช้ผสมน้ำในอัตราส่วน 1 : 10 เทใส่ในท่อน้ำทิ้ง บ่อบำบัดไขมัน บ่อน้ำเสีย ทิ้งไว้หนึ่งคืนแล้วจึงราดน้ำตาม
3. ไม่ควรเก็บปุ๋ยอินทรีย์น้ำไว้ในที่ที่โดนแดด ควรเก็บไว้ที่อุณหภูมิห้องประมาณ 20 – 30 องศาเซลเซียส จะเก็บได้นาน 6 เดือน
4. ปุ๋ยอินทรีย์น้ำมีธาตุอาหารค่อนข้างน้อย แต่มีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการปรับปรุงโครงสร้างและคุณภาพดิน ดังนั้นจึงอาจใช้ร่วมกับปุ๋ยเคมีในปริมาณเล็กน้อยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบำรุงต้นไม้

ข้อควรระวังในการทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ
1. หากการหมักยังไม่สมบูรณ์ ปริมาณกรดและน้ำตาลยังสูงอยู่ จะส่งผลเป็นพิษต่อพืช
2. ในระหว่างการหมักห้ามปิดฝาภาชนะที่ใช้หมักให้สนิทชนิดที่อากาศเข้าไม่ได้ เพราะอาจเกิดการระเบิดได้ เนื่องจากในระหว่างการหมักจะเกิดก๊าซขึ้นมาจำนวนมาก เช่นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซมีเทน ฯลฯ
3. ภาชนะที่ใช้หมักต้องไม่ใช้ภาชนะที่เป็นโลหะ เพราะปุ๋ยน้ำชีวภาพจะมีฤทธิ์เป็นกรด (Ph=3-4)ซึ่งจะกัดกร่อนโลหะให้ผุกร่อนได้

ข้อควรระวังในการใช้ปุ๋ยน้ำชีวภาพ(น้ำสกัดชีวภาพ)
1. ในการใช้น้ำสกัดชีวภาพกับพืชบางชนิดเช่นกล้วยไม้ อาจมีผลทำให้ภาชนะที่ใช้ปลูกคือกาบมะพร้าวผุเร็วก่อนเวลาอันสมควรทำให้ต้องเสียเงินในการเปลื่ยนภาชนะปลูกใหม่
2. ในการใช้น้ำสกัดชีวภาพกับพืชนั้นในดินจะต้องมีอินทรียวัตถุอยู่ เช่น มีการใส่ปุ๋ยหมัก เศษพืชแห้งคลุมดินไว้จึงจะทำให้การใช้ประโยชน์จากน้ำชีวภาพได้ผลดี
3. ห้ามใช้เกินอัตราที่กำหนดไว้ในคำแนะนำเพราะอาจมีผลทำให้ใบไหม้ได้ เนื่องจากความเป็นกรดหรือความเค็มในน้ำสกัดชีวภาพ ดังนั้นจึงควรเริ่มทดลองใช้ในอัตราความเข้มข้นน้อย ๆก่อน
4. น้ำสกัดชีวภาพที่มีธาตุไนโตรเจนสูง ๆ ต้องระวังในการใช้เพราะหากใช้มากไปอาจทำให้พืชเฝือใบและไม่ออกดอกออกผลได้


5. ในแต่ละช่วงการเจริญเติบโตของพืช พืชมีความต้องการสารอาหารในระดับที่แตกต่างกัน น้ำสกัดชีวภาพที่ผลิตได้จะมีสารอาหารที่แตกต่างกันเช่นกัน ดังนั้นผู้ใช้จะต้องเป็นผู้ค้นคว้าทดลองเองและเก็บข้อมูลไว้ว่าในแต่ละช่วงการเจริญเติบโต พืชต้องการน้ำสกัดชีวภาพสูตรใด ความเข้มข้นเท่าใดและระยะเวลาในการฉีดพ่นเท่าใด ไม่มีใครให้คำตอบที่ดีและถูกต้องสำหรับสวนหรือไร่นาของท่านได้ ยกเว้นท่านจะทำทดลองใช้ สังเกตอาการของพืชหลังจากใช้และปรับใช้ให้ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับพืชของท่านต่อไป