Saturday, 27 July 2024

กราบสาธุ! สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระโอวาท พระธรรมทูตมีหน้าที่เผยแผ่พระธรรมไม่พึงหวังลาภสักการะใดๆ

จากกรณีเฟซบุ๊กสำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ที่เสด็จไปหอประชุมพุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ทรงเปิดการประชุมสัมมนาพระธรรมทูตภายในประเทศ ซึ่งพระองค์ทรงเมตตาประทานพระโอวาทด้วย โดยเห็นว่าพระธรรมคำสั่งสอนนี้มีประโยชน์ยิ่งต่อพุทธศาสนิกชน จึงขอนำมาเผยแพร่ต่อดังนี้

วันอังคาร ที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๖๑ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เสด็จไปหอประชุมพุทธมณฑล อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ทรงเปิดการประชุมสัมมนาพระธรรมทูตภายในประเทศโอกาสนี้ เจ้าพระคุณ สมเด็จพระสังฆราช ประทานพระโอวาท ความตอนหนึ่งว่า

“ในฐานะที่ผมได้รับภารธุระ ในงานพระธรรมทูตมานับแต่ยุคบุกเบิกจนถึงปัจจุบัน จึงขอใช้โอกาสนี้ ปรารภข้อคิดบางประการกับท่านทั้งหลายสักเล็กน้อย ในฐานะพระธรรมทูตรุ่นพี่พูดคุยกับพระธรรมทูตรุ่นน้อง

การเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นหน้าที่โดยตรงของพระภิกษุ ท่านทั้งหลายเมื่อได้อุปสมบทเข้ามาสู่พระศาสนานี้ จึงมีหน้าที่เผยแผ่พระธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ขจรขจายไป ด้วยน้ำใจกรุณาอย่างบริสุทธิ์ ไม่พึงมุ่งหวังลาภสักการะใดๆ แต่พึงมุ่งหมายเพื่อให้ธรรมะ เรืองรองขึ้นอย่างกว้างขวาง ให้เป็นแสงสว่างทางปัญญา ช่วยอนุเคราะห์เกื้อกูลชาวโลกอย่างไรก็ตาม การช่วยกันหมุนกงล้อแห่งธรรม หรือที่เรียกว่า ‘ธรรมจักร’ ให้ขับเคลื่อนไปนั้น จำเป็นต้องอาศัยคุณสมบัติสำคัญ ๕ ประการ กล่าวคือ

๑. ธัมมัญญุตา ท่านต้องเป็นผู้รู้จักเหตุ คือ รู้หลักความจริง ต้องเป็นผู้รู้ธรรม ถ้าท่านเป็นพระธรรมทูต แต่ไม่รู้จักธรรมะอย่างถ่องแท้ ก็ทำงานให้สำเร็จสมตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับสมมติให้เป็นอยู่นี้ไม่ได้

๒. อัตถัญญุตา ท่านต้องเป็นผู้รู้จักผล คือ รู้ความหมาย รู้ประโยชน์ที่ประสงค์ ว่าธรรมะที่ท่านเผยแผ่นั้น มีความหมายอย่างไร และการทำหน้าที่ของท่านนั้นเพื่อประโยชน์อะไร

๓.มัตตัญญุตา ท่านต้องเป็นผู้รู้จักประมาณ คือ ความพอดี เช่น ภิกษุในพระพุทธศาสนา ย่อมรู้จักประมาณในการรับและบริโภคปัจจัยสี่

๔. กาลัญญุตา ท่านต้องเป็นผู้รู้จักกาลอันเหมาะสม รู้ระยะเวลาที่จะต้องใช้ในการประกอบกิจการงาน บริหารเวลาให้ถูกต้อง รู้ว่าเวลาใดควรทำ หรือควรพูดอะไร และอย่างไรและ ๕. ปริสัญญุตา ท่านต้องเป็นผู้รู้จักบริษัท คือ รู้จักชุมชน รู้กิริยาที่จะประพฤติต่อชุมชนนั้นๆ ว่า ชุมชนนี้เมื่อเข้าไปหา จะต้องทำกิริยาอย่างนี้ จะต้องพูดอย่างนี้ ชุมชนนี้ควรสงเคราะห์อย่างนี้ เป็นต้น

ถ้าพระธรรมทูตมีคุณสมบัติทั้ง ๕ ประการดังกล่าวมานี้ครบถ้วน ขอรับรองว่า ท่านจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ แล้วเป้าหมายที่พึงประสงค์ คือความดำรงคงมั่นแห่งพระสัทธรรม นำประโยชน์สุขมาสู่มหาชนทั้งหลาย ก็ย่อมบังเกิดขึ้นได้ ตลอดกาลนาน”

ขอบคุณเฟซบุ๊ก : สำนักงานเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช